- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 10 August 2023 12:56
- Hits: 1923
กรมพัฒน์ฯ ประกาศความสำเร็จทีม ‘พี่เลี้ยงโชห่วย’ ช่วยดันรุ่นน้องเป็น ‘สมาร์ทโชห่วย’ ปรับภาพลักษณ์ให้น่ามอง และเปลี่ยนระบบบริหารจัดการ ทำธุรกิจให้ยั่งยืน
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดกิจกรรมประกาศความสำเร็จจากความร่วมมือภายหลังลงนาม MOU ขับเคลื่อนโครงการ “สมาร์ทโชห่วย พลัส” ขอบคุณ 27 พันธมิตรและทีมพี่เลี้ยงโชห่วยที่ช่วยเสริมความแกร่ง ให้โชห่วยรุ่นน้องทั่วประเทศผ่านการเสริมสร้างความรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการกว่า 1,900 ราย เกิดการเจรจาซื้อขายได้กว่า 15 ล้านบาท และพัฒนา 300 โชห่วยเป็น “สมาร์ทโชห่วย” โดยทีมพี่เลี้ยง ลงพื้นที่ช่วยปรับภาพลักษณ์ให้น่ามอง ดึงดูดลูกค้ามากขึ้น พร้อมทั้งมีทีมผู้เชี่ยวชาญแนะนำใช้ระบบ POS ผลักดันการปรับเปลี่ยนจากวิถีเดิมสู่การใช้เทคโนโลยี ช่วยลดต้นทุนด้านสต๊อกสินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการร้านค้า ทั้งนี้ กรมฯ พร้อมจะสนับสนุนโชห่วยทุกทางเพื่อเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจ ในระดับชุมชนต่อไป
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประกาศความสำเร็จจากความร่วมมือภายหลังลงนาม MOU ขับเคลื่อนโครงการ “สมาร์ทโชห่วย พลัส” ณ ศูนย์ประชุม 1 ศตวรรษ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า กิจกรรมฯ ในวันนี้ (9 สิงหาคม 2566) เป็นผลจากการลงนาม MOU ขับเคลื่อนโครงการ “สมาร์ทโชห่วย พลัส” ระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากับพันธมิตร 27 หน่วยงาน 6 กลุ่ม ประกอบด้วย สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย, ผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่าย (Supplier), ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี/ ระบบ POS / แพลตฟอร์ม, ผู้ให้บริการเสริม อาทิ ตู้เติมเงิน ตู้ให้บริการแบบหยอดเหรียญ, สถาบันการเงิน และผู้ผลิตสินค้าชุมชนในเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการมอบสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ให้แก่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส พร้อมวางกลไกการทำงานในพื้นที่ภายใต้แนวคิด “พี่เลี้ยงโชห่วย” โดยมีร้านค้าส่ง ค้าปลีกท้องถิ่นที่ผ่านการพัฒนาจากกรมฯ (ร้านค้าต้นแบบ) ช่วยพัฒนาผู้ประกอบการโชห่วยในพื้นที่ให้เป็น “สมาร์ทโชห่วย” มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ เป็นสมาร์ทโชห่วยที่เข้มแข็งและแข่งขันได้ สู่การเป็นจุดศูนย์กลางของท้องถิ่นที่ช่วยกระจายสินค้าชุมชนให้กับคนในพื้นที่ สร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตต่อไป
อธิบดี กล่าวต่อว่า “ปี 2566 ถือเป็นปีแรกที่กรมฯ ดำเนินการพัฒนาสมาร์ทโชห่วยภายใต้แนวคิด “พี่เลี้ยงโชห่วย” โดยในปีนี้มีพี่เลี้ยงโชห่วย (นำร่อง) เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 21 ราย ครอบคลุม 4 ภูมิภาค : เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และใต้ การพัฒนาผู้ประกอบการโชห่วยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ (1) การเสริมสร้าง องค์ความรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ เป็นการวางรากฐานสู่การพัฒนาเป็นสมาร์ทโชห่วยในลำดับต่อไป กิจกรรมที่สำคัญคือ การจัดสัมมนาออนไซต์ทั่วประเทศ รวม 10 ครั้ง เพื่อให้ความรู้โดยเฉพาะในด้านบัญชี/ภาษี ซึ่งเป็นข้อห่วงกังวลของโชห่วย รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ในยุคนี้ เช่น การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและช่องทางออนไลน์เพื่อการบริหารจัดการร้านค้าและสร้างโอกาสทางการตลาด นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการผ่านกิจกรรมการตลาดทั้งบูธสินค้าราคาพิเศษจากร้านค้า พี่เลี้ยงโชห่วยและบูธนำเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากพันธมิตรโครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 1,900 ราย สร้างมูลค่าการซื้อ-ขายได้กว่า 15 ล้านบาท”
“(2) การพัฒนาร้านค้าโชห่วยให้เป็น “สมาร์ทโชห่วย” ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการโชห่วยไทยใน 4 ภูมิภาคให้เป็นสมาร์ทโชห่วย รวม 300 ร้านค้า ซึ่งสมาร์ทโชห่วยในที่นี้คือ ร้านค้าโชห่วยที่มีภาพลักษณ์ร้านค้าที่ดี มีการใช้ระบบ POS ในการบริหารจัดการร้านค้า และมีช่องทางออนไลน์เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด ผมขอใช้โอกาสนี้ในการขอบคุณร้านค้าพี่เลี้ยงนำร่องทั้ง 21 ราย ที่เป็นกำลังหลักในการช่วยพัฒนาสมาร์ทโชห่วย ผ่านกิจกรรมการปรับภาพลักษณ์ร้านค้าโดยมีทีมงานพี่เลี้ยงลงพื้นที่ ณ สถานประกอบการ เพื่อให้ความรู้และดำเนินการจัดร้านค้าและจัดเรียงสินค้าตามหลัก 5 ส (สวย สะอาด สว่าง สะดวก สบาย) ช่วยปรับร้านค้าให้น่ามอง มีการจัดวางสินค้าเป็นหมวดหมู่ ดูสวยงาม มีระเบียบ สะดวกในการซื้อขาย ซึ่งจะช่วยดึงดูดลูกค้าและเพิ่มโอกาส ในการขายสินค้าได้มากขึ้น นอกจากนี้ กรมฯ มุ่งผลักดันให้โชห่วยเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการร้านค้า โดยส่งเสริมการใช้ระบบ POS จัดผู้เชี่ยวชาญด้านระบบ POS พร้อมทีมงานพี่เลี้ยงโชห่วยลงพื้นที่ ณ สถานประกอบการ เพื่อให้คำแนะนำวิธีการใช้งานขั้นพื้นฐานของระบบ POS ช่วยให้ขายสินค้าได้ถูกต้องรวดเร็ว บริหารจัดการสต๊อกสินค้าได้เหมาะสม หากผู้ประกอบการสามารถใช้ระบบ POS อย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดโครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส ปี 2566 คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 100 ล้านบาท ในปีนี้”
“การพัฒนาร้านโชห่วยด้วยพันธมิตรและทีมพี่เลี้ยงจะเป็นการสร้างเครือข่ายธุรกิจให้มีความยั่งยืนและเหนียวแน่นไม่เดินไปบนเส้นทางธุรกิจเพียงลำพัง ‘เพราะธุรกิจเดินคนเดียวไม่ได้’ โอกาสนี้กรมฯ ขอขอบคุณพันธมิตรทั้ง 27 หน่วยงานที่ช่วยกันพัฒนาร้านค้าโชห่วยตามความถนัดของตัวเองอย่างเต็มที่จนประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดร่วมกันใน MOU อย่างเป็นรูปธรรม กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามุ่งมั่นที่จะพัฒนาผู้ประกอบการโชห่วยไทยอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือของพวกเราทุกฝ่ายในวันนี้จะเป็นรากฐานสำคัญ ในการขยายผลความร่วมมือในวันหน้า โดยประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นและพร้อมเปิดรับพันธมิตรใหม่ๆ จากทุกภาคส่วนที่มีเจตนารมณ์เดียวกันในการพัฒนาผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นรวมถึงร้านค้าโชห่วยด้วยเครื่องมือการพัฒนาที่ก้าวทันโลกยุคใหม่และตอบโจทย์ผู้ประกอบการในทุกระดับ สุดท้ายนี้ ขอฝากความห่วงใยและให้กำลังใจร้านค้าโชห่วยที่ก้าวสู่การเป็นสมาร์ทโชห่วยแล้ว ขอให้ตั้งใจพัฒนาต่อไป กรมฯ พร้อมจะสนับสนุนท่านในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะร้านค้าโชห่วยถือเป็นหัวใจของชุมชนที่จะช่วยสร้างการหมุนเวียนของเม็ดเงินในชุมชน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน” อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย
A8266