- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 07 August 2023 16:14
- Hits: 1825
ทตอ.ต่อเก็บ AD หลอดและท่อทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้าจากจีน-เกาหลีใต้อีก 5 ปี
ทตอ. สั่งเก็บอากรเอดีหลอดและท่อทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้าจากจีน และเกาหลีใต้ ต่ออีก 5 ปี จนถึงปี 71 หลังพบถ้ายกเลิก ความเสียหายของผู้ผลิตในประเทศอาจกลับมาได้อีก เผยเป็นการเก็บอากรเอดีต่อ ตามหลังเหล็กแผ่นรีดร้อนเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน จาก 5 ประเทศ ที่ต่ออายุไปก่อนหน้านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้ลงประกาศคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) เรื่อง ผลการพิจารณาทบทวนความจำเป็นในการใช้บังคับอากรตอบโต้การทุ่มตลาดต่อไป ตามมาตรา 56 และ 57 พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศพ.ศ.2542 กรณีสินค้าหลอดและท่อทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้าที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน และเกาหลีใต้
โดยกำหนดให้ไทยยังคงเก็บอากรตอบโต้การทุ่ม (เอดี) สินค้าดังกล่าวจากทั้ง 2 ประเทศ รวม 181 รายการ ในอัตราเดิมต่ออีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2566-19 ก.ค.2571 โดยสินค้าจากจีน เก็บอัตรา 3.22-66.01% ของราคา CIF (ราคาสินค้ารวมค่าขนส่ง และค่าประกันภัย) และเกาหลีใต้ เก็บที่ 3.49-53.88% เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตเหล็กในไทยไม่ให้ได้รับผลกระทบ หรือเสียหายจากการนำเข้า
เพราะหลังจาก ทตอ. เปิดทบทวนถึงความจำเป็นในการเรียกเก็บอากรเอดีต่อไปหลังจากเก็บมาครบ 5 ปี หรือเก็บมาตั้งแต่ปี 2560 พบว่า หากยุติการเก็บ จะทำให้สินค้าดังกล่าวจาก 2 ประเทศเข้ามาทุ่มตลาด (ตั้งราคาขายในไทยต่ำกว่าราคาที่ขายในประเทศผู้ผลิต) และทำให้ความเสียหายของผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันในไทยฟื้นคืนมาได้อีก
ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าว ยังคงกำหนดให้เรียกเก็บอากรเอดี 0% สำหรับการนำเข้าเหล็กตามบัญชีแนบท้ายประกาศนี้ 4 รายการ ได้แก่ 1.การนำเข้าท่อเหล็ก เฉพาะมาตรฐาน API 2.การนำเข้าท่อเหล็กหรือเหล็กกล้าเฉพาะมาตรฐาน ASTM A671 ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายนอก 457 ถึง 600 มิลลิเมตร (มม.) และความหนาผนังท่อ ตั้งแต่ 23.00 มม.ขึ้นไป 3.การนำเข้าท่อเหล็ก Cold drawn ที่มีภาคตัดขวาง เป็นรูปตัว T
และ 4.การนำเข้าท่อเหล็ก Cold drawn เนื่องจาก ทตอ. พิจารณาแล้ว พบว่า พยานหลักฐานที่ได้รับจากผู้ยื่นคำขอไม่เพียงพอที่จะมีคำวินิจฉัยให้เปลี่ยนแปลงอัตราอากรเอดี หลังจากสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น ได้ยื่นคำขอต่อกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ได้ยื่นคำขอให้ทบทวนอัตราจัดเก็บที่กำหนด 0% สำหรับการนำเข้า 4 กรณี
ขณะเดียวกัน ยังคงกำหนดให้เก็บ 0% สำหรับสินค้าที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกภายใต้กฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยศุลกากร การนำเข้าท่อที่ใช้ผลิตแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม โครงสร้างเหล็กและโครงสร้างเหล็กปิโตรเลียม และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องสำหรับติดตั้งทั้งในประเทศและพื้นที่พัฒนาร่วม ภายใต้หลักเกณฑ์การยกเว้นตาม พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2564
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ปี 2565 ที่กรมการค้าต่างประเทศ ได้เปิดทบทวนความจำเป็นการเก็บอากรเอดีต่อไปกับเหล็กนำเข้า 3 กลุ่ม คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน จากบราซิล อิหร่าน และตุรกี, เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน จากจีน และมาเลเซีย และหลอดและท่อทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า จากจีน และเกาหลีใต้ และมีแนวโน้มยกเลิกการเก็บ เพราะไม่พบการทุ่มตลาดในประทศ และไม่พบความเสียหายนั้น
ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กในไทยออกโรงคัดค้านอย่างหนัก โดยอ้างว่า ผู้ผลิตเหล็กที่ส่งออกเหล็กดังกล่าวเข้ามาในไทยทั้งหมด ล้วนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก และพร้อมส่งเหล็กเข้ามาทุ่มตลาดในไทยจนทำให้ผู้ผลิตเสียหายได้อีก แต่ผู้นำเข้า และผู้ใช้ คัดค้านเช่นกันว่า อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ได้รับความคุ้มครองมานานแล้ว น่าจะปรับตัวรับการแข่งขันได้แล้ว อีกทั้งการเก็บอากรเอดี ทำให้ต้นทุนของผู้นำเข้า ผู้ใช้ที่อยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรมสูงขึ้น และกระทบประชาชน
อย่างไรก็ตาม หลังจาก ทตอ. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง รวมถึงความเห็นของทั้ง 2 กลุ่มแล้ว มีมติให้ยังคงเก็บอากรเอดีสินค้าทั้ง 3 กลุ่มต่อไปอีก 5 ปี จนถึงปี 2571 หลังจากนั้นจะเปิดทบทวนความจำเป็นอีก หากไม่พบการทุ่มตลาด และไม่พบความเสียหาย ก็จะยกเลิก แต่ถ้ายังมีการทุ่มตลาด หรือมีความเสียหายอยู่ จะเก็บต่ออีก 5 ปี
ก่อนหน้านี้ ทตอ. ได้ต่ออายุการใช้มาตรการเอดี สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน จากบราซิล อิหร่าน และตุรกี เป็นเวลา 5 ปี ถึงปี 2571 โดยสินค้าจากบราซิล ถูกเก็บอากรเอดี 34.40% ของราคา CIF (ราคาสินค้ารวมค่าปะกันและค่าขนส่ง) อิหร่าน 7.25-38.27% ตุรกี 6.88-38.23% ต่อมามาเลเซีย โดนเก็บ 23.57-42.51% และจีน เก็บที่ 30.91%