- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 03 August 2023 22:25
- Hits: 1556
สนค. วิเคราะห์การนำเข้าสินค้าเกษตรโลก ไทยมีโอกาสส่งออกพืชน้ำมัน ธัญพืช กาแฟ
สนค.ใช้แดชบอร์ดของเว็บไซต์ คิดค้า .com วิเคราะห์การนำเข้าสินค้ากลุ่มเกษตรกรรมทั่วโลกปี 65 พบมีมูลค่าสูงถึง 1.76 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 9% จีนนำเข้ามากสุด ตามด้วยสหรัฐฯ เยอรมนี ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ ส่วนที่ทั่วโลกนำเข้าจากไทย มีมูลค่า 2.94 หมื่นล้านเหรียญ เพิ่ม 7.3% ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 2.74% เผยสินค้าที่นำเข้ากันมาก 3 ลำดับแรก คือ พืชน้ำมัน ธัญพืช และกาแฟ ชี้เป็นโอกาสในการส่งออกของไทย หลังทั่วโลกต้องการเพิ่มขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ใช้แดชบอร์ดวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics Dashboard) ของเว็บไซต์ คิดค้า .com พบว่า ในปี 2565 ทั่วโลกมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มเกษตรกรรม (กสิกรรม ปศุสัตว์ และประมง) เป็นมูลค่าสูงถึง 1.07 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.08%
โดยจีน มีการนำเข้าสูงสุด เป็นมูลค่า 176,936.52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 9.77% รองลงมา ได้แก่ สหรัฐฯ 107,121.47 ล้านเหรียญสหรัฐ เยอรมนี 60,335.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น 55,352.39 ล้านเหรียญสหรัฐ และเนเธอร์แลนด์ 45,437.65 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ โลกมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มเกษตรกรรมจากไทย เป็นมูลค่าสูงถึง 29,433 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.35% โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาด 2.74% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มเกษตรกรรมของทั้งโลก สำหรับประเทศที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูง 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งตลาด 14.27% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มเกษตรกรรมของมาเลเซีย รองลงมา ได้แก่ แอฟริกาใต้ จีน เซเนกัล และสิงคโปร์ มีส่วนแบ่งตลาด 11.78% 7.21% 7.08% และ 7.07% ตามลำดับ
สำหรับ การนำเข้าสินค้ากลุ่มเกษตรกรรมที่สำคัญของโลก เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการนำเข้า การเปลี่ยนแปลงมูลค่าการนำเข้า และอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3 ปี พบว่า กลุ่มสินค้าศักยภาพที่โลกมีความต้องการนำเข้าสูง และการส่งออกของไทยมีอัตราการเติบโตสูง อันดับ 1 ได้แก่ พืชน้ำมัน รองลงมา คือ ธัญพืช และกาแฟ
โดยอันดับ 1 พืชน้ำมัน มีมูลค่าการนำเข้าทั่วโลก 134,368.97 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.04% และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ 22.48% โดยการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น เป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาโควิด-19 ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้มีการกักตุนอาหาร รวมถึงหลายประเทศใช้มาตรการจำกัดการส่งออกเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารในช่วงปีก่อนหน้า
ประกอบกับการฟื้นตัวของการบริโภค ส่งผลให้ความต้องการสินค้าพืชน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจีนเป็นผู้นำเข้าพืชน้ำมันรายใหญ่ของโลก คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าการนำเข้า 49% ของโลกที่มีการเปิดตลาดนำเข้าพืชน้ำมันมากขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2565 ไทยสามารถส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าว เพิ่ม 49.92% คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดสินค้าพืชน้ำมันในตลาดโลก 0.05% โดยมีมาเลเซีย อินเดีย และเนเธอร์แลนด์ เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2566 และแม้ไทยจะไม่ใช่ผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก แต่ก็มีโอกาสขยายการส่งออกจากความต้องการซื้อของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งไทยควรส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันด้านราคา
อันดับที่ 2 ธัญพืช มีมูลค่าการนำเข้าทั่วโลก 81,456.10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 21.06% และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี สูงถึง 26.87% ธัญพืชเป็นสินค้าที่น่าจับตามอง จากกระแสการรักสุขภาพที่กำลังมาแรงทั่วโลกจึงเป็นโอกาสของสินค้าธัญพืชไทย ปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งตลาดธัญพืชโลก เพียง 0.01% อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งตลาดของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าในกลุ่มธัญพืช (ไม่รวมข้าวโพด) และอาหารปรุงแต่งจากธัญพืช เป็นมูลค่ารวม 223.66 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 8.01%
โดยมีประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐฯ จีน ฟิลิปปินส์ และเยอรมนี นอกจากนี้ ไทยมีการส่งออกลูกเดือย ซึ่งเป็นธัญพืชสำคัญที่โลกต้องการ และเป็นพืชพื้นเมืองที่ปลูกมากในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกลูกเดือย 5.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 1.18% ประเทศผู้นำเข้าลูกเดือยจากไทยที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น จีน (ไต้หวัน) และสหรัฐฯ
“ปัจจัยด้านการแสวงหาความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกระแสอาหารสุขภาพ ประกอบกับศักยภาพของไทยในการเป็นผู้ผลิตอาหารอันดับต้น ๆ ของโลก สามารถทำให้ธัญพืชเป็นสินค้าที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างเป็นกอบเป็นกำต่อไปในอนาคต ซึ่งภาครัฐควรมีบทบาทสนับสนุนข้อมูลและอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ
รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าให้กับผู้ประกอบการ ช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา ให้การสนับสนุนด้านการเงิน ฝึกอบรมทักษะด้านการตลาด และจับคู่ธุรกิจ เพื่อช่วยหาตลาดในต่างประเทศ เพื่อให้สินค้าธัญพืชและสินค้าอาหารสุขภาพของไทยมีความโดดเด่น หลากหลาย และปลอดภัยได้มาตรฐาน ตอบโจทย์ความต้องการจากตลาดโลกได้ต่อไป”นายพูนพงษ์กล่าว
อันดับที่ 3 กาแฟ มีมูลค่าการนำเข้าทั่วโลกอยู่ที่ 46,690.77 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 31.48% และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี สูงถึง 23.76% สินค้าดังกล่าวมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก โดยเฉพาะผู้นำเข้าหลักอย่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่มีความต้องการสต็อกสินค้ามากขึ้น และจีนที่มีความต้องการบริโภคกาแฟเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่หันมาบริโภคกาแฟมากขึ้น
โดยในปีที่ผ่านมา ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดสินค้ากาแฟ 0.01% ขยายตัว 51.46% ตลาดเมล็ดกาแฟคั่วที่สำคัญของไทย คือ กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น บังกลาเทศ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สำหรับตลาดผลิตภัณฑ์กาแฟที่สำคัญของไทย คือ กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ เมียนมา และออสเตรเลีย โดยกาแฟ แม้จะเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรศักยภาพสูง แต่ก็เป็นสินค้าที่มีข้อจำกัดภายใต้นโยบายและมาตรการการค้าระหว่างประเทศที่ไทยมีอยู่ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การผ่อนคลายมาตรการทางการค้าควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ผลิตในประเทศ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น