- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 03 August 2023 21:07
- Hits: 1817
สนค.เปิดตัวแดชบอร์ดสุกร ช่วยผู้ประกอบการ เกษตรกร ประชาชน มีข้อมูลวางแผนทำธุรกิจ
สนค.ร่วมมือสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จัดทำแดชบอร์ดสินค้าสุกร ภายใต้นโยบาย'เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด'เปิดตัวให้บริการผ่านเว็บไซต์ คิดค้า .com แล้ว ผู้ประกอบการ เกษตรกร ประชาชน สามารถใช้ค้นหาข้อมูลการผลิต ราคา การส่งออก เพื่อวางแผนและใช้ตัดสินใจดำเนินธุรกิจ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โดยความร่วมมือจากกรมปศุสัตว์ จัดทำแดชบอร์ดสินค้าสุกร ภายใต้นโยบาย’เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด’ รวบรวมข้อมูลตั้งแต่การผลิต ราคา และการส่งออกของไทย และได้เปิดตัวแล้วผ่านเว็บไซต์ คิดค้า .com โดยผู้ประกอบการ เกษตรกร และประชาชน สามารถใช้ติดตาม ทั้งด้านการผลิต ราคา และการส่งออก รวมถึงใช้ข้อมูลในการวางแผนการตัดสินใจการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากแดชบอร์ดสินค้าสุกร พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเกือบ 1.5 แสนราย จังหวัดที่มีการผลิตสุกรมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ราชบุรี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตสุกรมีชีวิตของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561-2565 มีปริมาณการผลิตสุกรมีชีวิต จำนวน 22.82 22.53 22.05 19.28 และ 15.8 ล้านตัว ตามลำดับ ทั้งนี้ สำหรับปี 2566 คาดการณ์ว่าผลผลิตสุกรจะเพิ่มขึ้นจากปี 2565 โดยจะมีปริมาณการผลิตสุกรมีชีวิต ประมาณ 18 ล้านตัว
สำหรับ การส่งออกที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ไทยเป็นผู้ส่งออกสุทธิสินค้าสุกรมีชีวิต ตลาดส่งออกหลัก คือ ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา และสปป.ลาว แต่ในปี 2565 ไทยส่งออกสุกรมีชีวิตเพียง 4,383 ตัว (ปี 2564 ไทยส่งออกสุกรมีชีวิต มากกว่า 1 ล้านตัว) เนื่องจากผลผลิตในประเทศลดลง และรัฐบาลมีมาตรการห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นการชั่วคราว (ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.-5 เม.ย.2565) เพื่อให้มีเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ
ส่วนสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ ไทยเป็นผู้ส่งออกสุทธิเช่นกัน ในปี 2565 ไทยส่งออกเป็นมูลค่า 5,999.82 ล้านบาท (58,540 ตัน) มีสินค้าสำคัญเรียงตามมูลค่าการส่งออก ดังนี้ 1.สุกรแปรรูป (สินค้าในกลุ่มนี้ เช่น ไส้กรอก เนื้อสุกรปรุงแต่ง) มีมูลค่าการส่งออก 3,340.70 ล้านบาท (ปริมาณ 29,640 ตัน) ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากปีก่อนหน้า 2.ชิ้นส่วนสุกรอื่นๆ ที่บริโภคไม่ได้ (สินค้าในกลุ่มนี้ เช่น หนังสุกรฟอก) มีมูลค่าการส่งออก 1,697.14 ล้านบาท (ปริมาณ 20,410 ตัน) หดตัวร้อยละ 19.0 3.ชิ้นส่วนสุกรอื่น ๆ ที่บริโภคได้ มีมูลค่าการส่งออก 754.72 ล้านบาท (ปริมาณ 7,220 ตัน) หดตัวร้อยละ 8.7 และ 4.เนื้อสุกรแช่เย็น แช่แข็ง และแช่น้ำเกลือ มีมูลค่าการส่งออก 207.25 ล้านบาท (ปริมาณ 1,250 ตัน) หดตัวร้อยละ 89.7
ในปี 2565 ตลาดส่งออกสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น (สินค้าสำคัญ เช่น ไส้กรอก และเนื้อสุกรปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย) จีน (สินค้าสำคัญ เช่น หนังสุกรฟอก) กัมพูชา (สินค้าสำคัญ เช่น สุกรมีชีวิต ไส้กรอก และเนื้อสุกรปรุงแต่งบรรจุภาชนะสำหรับขายปลีก) เมียนมา (สินค้าสำคัญ เช่น ไส้กรอก และสุกรมีชีวิต) และฮ่องกง (สินค้าสำคัญ เช่น เนื้อสุกรสดหรือแช่เย็นและเนื้อสุกรปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย)
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมสุกรของไทย ต้องปรับตัวรับมือกับความท้าทายและแสวงหาโอกาสจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ อาทิ 1.โรคระบาดในสุกร อาทิ โรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF) และโรคติดต่อท้องร่วง (PED) ซึ่งสร้างผลกระทบเสียหายทางเศรษฐกิจ ต้องมีการป้องกันและรับมือ เช่น มาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ การเฝ้าระวัง การจัดการของเสียและมูลสัตว์ และการควบคุมการขนส่งอย่างเข้มงวด 2.ความผันผวนของราคาสุกร ซึ่งขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทาน
จึงต้องมีการวิจัยตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มและทำให้สินค้ามีความแตกต่าง 3.ต้นทุนค่าอาหารสัตว์ เป็นต้นทุนหลักในการเลี้ยงสุกร โดยราคาพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ผันแปรตามสภาพภูมิอากาศ ค่าขนส่ง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้น ควรมีซัพพลายเออร์ที่หลากหลาย ติดตามสถานการณ์ตลาดเพื่อวางแผนการซื้อในเวลาที่เหมาะสม การวางแผนงบประมาณค่าอาหารสัตว์ เช่น อาหารที่มีราคาสูง ให้ซื้อในช่วงเวลาที่เหมาะสมและเท่าที่จำเป็น การเติมสารอาหารเพื่อลดต้นทุน เป็นต้น
4.การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) เป็นแนวคิดการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อาทิ มีการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การทำแผนการจัดการมูลสัตว์ (Manure Management Plan) และน้ำเสียจากฟาร์ม ตลอดจนมีการดูแลคนงาน และดูแลสวัสดิภาพสัตว์ เป็นต้น และ 5.เทคโนโลยี การทำสมาร์ทฟาร์ม นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด
อาทิ ระบบให้อาหารอัตโนมัติ ช่วยลดต้นทุนค่าแรง ระบบติดตามโดยกล้องวิดีโอดิจิทัล เพื่อสังเกตดูพฤติกรรมสัตว์ สุขภาพ และสวัสดิภาพสัตว์ การติดไมโครโฟนฟังเสียง เช่น เสียงไอผิดปกติ การร้องเสียงดังจากอาการเครียด เป็นต้น และเทคโนโลยี IOT เชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เพื่อทำการเกษตรอย่างแม่นยำ
ปัจจุบัน สนค. ได้เผยแพร่แดชบอร์ดสินค้าเกษตรแล้วรวม 9 สินค้า ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทุเรียน กุ้งขาวแวนนาไม ไก่เนื้อ และสุกร เพื่อให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร และประชาชน ใช้ติดตามภาวะสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งด้านการผลิต ราคา และการส่งออก รวมถึงใช้ข้อมูลในการวางแผนการตัดสินใจการดำเนินธุรกิจ