- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 25 July 2023 19:27
- Hits: 1125
สนค.แนะผู้ประกอบการใช้ Digital Solution เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดปล่อยคาร์บอน
สนค.เผยเทรนด์ผู้ประกอบการทั่วโลก เริ่มนำ Digital Solution ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อรับมือมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ และการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น แนะผู้ประกอบการไทย นำมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการทั่วโลกได้ปรับตัวใช้ Digital Solution เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อรับมือมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Climate-related Measures) และการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะมาตรการสำคัญที่อาจกระทบต่อการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก และกำลังจะบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.2566 คือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) หนึ่งในมาตรการภายใต้นโยบายแผนปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) ของสหภาพยุโรป
ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันจากผู้ผลิตต่างชาติที่มีมาตรการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นน้อยกว่าสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม 6 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า (ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าปลายน้ำบางรายการ อาทิ นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า) อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก World Economic Forum (WEF) ระบุว่าร้อยละ 70-90 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในขั้นตอนการผลิตที่สำคัญ แต่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่คุณค่า ดังนั้น เพื่อที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถติดตามและตรวจสอบการปล่อยก๊าซได้ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ของ WEF ร่วมกับ Accenture (บริษัทที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยี) ระบุว่า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการผลิต สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ร้อยละ 4-10 ของการผลิตแบบปกติ
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการนำ Digital Solution มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดการปล่อยคาร์บอนตลอดห่วงโซ่คุณค่า เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนทั่วโลกได้นำมาปรับใช้แล้ว เช่น บริษัท Siemens ของเยอรมนี จัดทำระบบ SiGreen เป็นระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ (Product Carbon Footprint : PCF)
ตลอดห่วงโซ่คุณค่า และสร้างเครือข่ายชื่อ Estainium เป็นเครือข่ายแบบเปิดที่ช่วยให้ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย (Suppliers) ลูกค้า และคู่ค้า สามารถแลกเปลี่ยนและตรวจสอบข้อมูล PCF ได้อย่างโปร่งใสและน่าเชื่อถือ ในขณะที่บริษัท Brainbox AI ของแคนาดา มีการปรับปรุงระบบปรับสภาพอากาศในอาคาร (Heating Ventilation and Air Conditioning : HVAC) ของห้างสรรพสินค้านำร่องแห่งหนึ่ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและต้นทุนค่าใช้จ่ายของห้างสรรพสินค้า
โดยมีการใช้ AI อัตโนมัติประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศในท้องถิ่น อัตราค่าไฟฟ้า และการใช้พลังงานโดยรวมของห้างสรรพสินค้า เพื่อวิเคราะห์และปรับรูปแบบการใช้พลังงานให้เหมาะสมกับแต่ละอาคาร ทำให้ปัจจุบันห้างสรรพสินค้าดังกล่าวมีค่าไฟฟ้าลดลงร้อยละ 16 และปล่อยคาร์บอนน้อยลง 32 เมตริกตันต่อปี
นอกจากนี้ ยังมีบริษัท Arup Group ของสหราชอาณาจักร ได้คิดค้นแพลตฟอร์ม Life Extension and Asset Management Platform (LEAP) ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและยืดอายุการใช้งานของ London Array (ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งสหราชอาณาจักร) ด้วยการใช้ AI และเซ็นเซอร์อัจฉริยะในการตรวจความสมบูรณ์ของโครงสร้างกังหัน เพื่อให้สามารถบำรุงรักษาตามความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนตลอดอายุการใช้งานลงได้ร้อยละ 15 และลดการปล่อยคาร์บอนลง 45,000 เมตริกตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าที่ประหยัดได้ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และบริษัท Shell ของเนเธอร์แลนด์ ใช้ AI คลาวด์ และข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์ เช่น ความดัน อุณหภูมิ และอัตราการไหล นำมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตแบบ Real-time ทำให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนจากก๊าซ LNG ได้ โดยคาดว่าเทคโนโลยีนี้จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ 130,000 เมตริกตันต่อปี
สำหรับ บริษัท Eni บริษัทข้ามชาติด้านพลังงานของอิตาลี ใช้เทคโนโลยี Machine Learning (ML) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพด้านพลังงานของโรงงานน้ำมัน โดยมีการวิเคราะห์และติดตามการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมแบบ Real-time เปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีตเพื่อตรวจจับความผิดปกติในโรงงาน และคาดการณ์รูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานและนำไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนได้
ในส่วนของประเทศไทย มีบริษัทเอกชนชั้นนำเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาปรับใช้กับบริษัทแล้ว เช่น บริษัท ปตท. ร่วมกับบริษัท Envision Digital พัฒนาระบบ EnOSTM ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ เพื่อตรวจสอบและควบคุมการใช้พลังงาน รวมถึงประเมินความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ทดลองของโครงการ เพื่อบริหารและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
และยังมีบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค (ประเทศไทย) ได้พัฒนาและเริ่มใช้ซอฟแวร์ SCADA GENESIS64™ ช่วยวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยนำเสนอเป็นภาพจำลองแบบ Real-time ที่ติดตามกระบวนการปล่อยคาร์บอนในโรงงานอุตสาหกรรมตั้งแต่รายชั่วโมง รายวัน รายเดือน และรายปี เพื่อวางแผนระบบการผลิต ควบคุมการใช้พลังงานและปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ให้เกินค่ามาตรฐานกำหนด หรือลดปริมาณการปล่อยให้น้อยที่สุด
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับนโยบายเกี่ยวกับการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจคาร์บอนต่ำ และการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการบนแนวคิด BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทย เตรียมความพร้อมด้านการค้า สร้างการรับรู้ให้กับผู้ประกอบการเข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของการดำเนินธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ
โดยได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ MOU ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านการบริหารก๊าซเรือนกระจก กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งมีภารกิจสนับสนุนทางเทคนิคและจัดให้มีแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัด รายงาน ทวนสอบ และให้การรับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
โดย MOU มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในด้านการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวและเข้าถึงการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก การลดการปลดปล่อยคาร์บอนในการดำเนินธุรกิจ และสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริม ผู้ประกอบการไทยสู่ความยั่งยืน (BCG Heroes to Low Carbon Pioneers) โดยให้ความรู้และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการลดการปลดปล่อยคาร์บอนในวัฏจักรผลิตภัณฑ์ และไปสู่การขอรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) โครงการ BCG to Carbon Neutrality ที่มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการไทย
ให้มีความรู้ความเข้าใจด้าน BCG และตระหนักถึงความสำคัญของ Carbon Neutrality ตลอดจนสามารถปรับตัวและลดการปล่อย Carbon Footprint ได้อย่างเป็นรูปธรรม โครงการ DEsign from Waste of Agriculture and Industry พัฒนาผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดสากล (DEWA & DEWI) และการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันคาร์บอนเครดิตเป็นหลักประกันทางธุรกิจ
“จากกระแสการตื่นตัวของหลายประเทศข้างต้น แสดงให้เห็นว่า Digital Solution มีส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทย ทั้งผู้ผลิตสินค้า และผู้ให้บริการทางเทคโนโลยี จะสามารถศึกษาตัวอย่างการใช้ Digital Solution จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เพื่อนำมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ พร้อมทั้งเป็นแนวทางให้สตาร์ทอัพของไทยได้คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี Digital Solution เพื่อช่วยผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงเทคโนโลยีและผลิตสินค้ารองรับการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”นายพูนพงษ์กล่าว