- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 25 December 2014 23:46
- Hits: 2178
4 หน่วยงานรัฐจับมือปราบนอมินีท่องเที่ยว
แนวหน้า : นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ เป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนชาวต่างชาติ ซึ่งได้มอบหมายกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานตามนโยบายของ ท.ท.ช.
โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมการท่องเที่ยว และกรมสอบสวนคดีพิเศษ จัดตั้งคณะทำงาน พร้อมจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน ซึ่งเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการแก้ไขปัญหา การประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee) ระหว่าง 4 หน่วยงานดังกล่าว ทั้งนี้มีกรอบความร่วมมือ 4 ด้าน คือ 1.ด้านการจดทะเบียนและการอนุญาต 2.ด้านการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล 3.ด้านกำกับดูแลและป้องปราม และ 4.ด้านการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว
สำหรับ ขอบเขตความร่วมมือของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในด้านการรับจดทะเบียนนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว จะให้ความสำคัญกับการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวจากกรมการท่องเที่ยวก่อนจดทะเบียน และสนับสนุนการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล ทั้งข้อมูลการจดทะเบียน ข้อมูลผู้ถือหุ้น ข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจที่อาจมีพฤติกรรมในลักษณะ Nominee เพื่อให้แต่ละหน่วยงานใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบ
ส่วนด้านการกำกับดูแลและป้องปรามนั้น ได้ร่วมจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่ใช้คนไทยเป็น Nominee ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อจัดทแผนปฏิบัติการและลงตรวจสอบในพื้นที่เป้าหมายร่วมกัน สนับสนุน ส่งเสริม พัฒนา เพื่อยกระดับมาตรฐานผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
พาณิชย์ เซ็น MoU ร่วมกับ 3 หน่วยงานร่วมแก้ปัญหานอมินีในธุรกิจท่องเที่ยว
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ(ททช.) มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างชาติในธุรกิจด้านการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งได้มอบหมายกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานหลักดำเนินงานตามนโยบายของ ททช. โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานปลัด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมการท่องเที่ยว และกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จัดตั้งคณะทำงาน และร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน โดยมีกรอบความร่วมมือ 4 ด้าน คือ 1.ด้านการจดทะเบียนและการอนุญาตประกอบธุรกิจ 2.ด้านการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล 3.ด้านการกำกับดูแลและป้องปราม และ 4.ด้านการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว
สำหรับ ขอบเขตความร่วมมือในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้านั้น ในด้านการรับจดทะเบียนนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว กรมฯ จะรับจดทะเบียนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวได้จากกรมการท่องเที่ยวก่อน ส่วนรายใดที่ยังไม่ได้รับการอนุญาตจากกรมการท่องเที่ยวก็จะยังไม่รับจดทะเบียนให้ นอกจากนี้ กรมฯ จะแลกเปลี่ยนข้อมูลการจดทะเบียน ผู้ถือหุ้น รวมทั้งข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจที่อาจมีพฤติกรรมนอมินีให้แต่ละหน่วยงานใช้เป็นฐานข้อมูลตรวจสอบและดำเนินการ
ขณะเดียวกัน คณะทำงานแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากทั้ง 4 หน่วยงานจะร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการ และตรวจสอบในพื้นที่เป้าหมายร่วมกัน รวมถึงสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพของผู้ประกอบธุรกิจให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
"ขอเตือนคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว จะมีความผิดทั้งคนไทยและคนต่างด้าว โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000 บาท" รมช.พาณิชย์ กล่าว
ด้าน น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า หลังจากการลงนามร่วมกันแล้ว ทั้ง 4 หน่วยงานจะร่วมกันตรวจสอบธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ภัตตาคาร, ร้านอาหาร, ธุรกิจสปา, บริษัทนำเที่ยว, มัคคุเทศก์(ไกด์) รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงจะเข้าข่ายมีนอมินี โดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ เช่น ภูเก็ต, กระบี่, สุราษฏร์ธานี, เชียงใหม่, เชียงราย, ชลบุรี, เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
สำหรับ แนวทางการตรวจสอบร่วมกันนั้น ในเบื้องต้นจะเน้นการตรวจสอบบริษัทที่มีความเสี่ยง เช่น มีผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติ ซึ่งต้องตรวจสอบว่าถือหุ้นไม่เกินสัดส่วนที่กำหนดที่ 49.99% หรือไม่ ถ้าไม่เกินต้องดูต่อไปอีกว่ามีอำนาจการบริหารจัดการภายในบริษัท และมีสิทธิในการออกเสียงมากกว่าผู้ถือหุ้นคนไทยที่มีสัดส่วนการถือหุ้น 51% หรือไม่ ถ้ามีมากกว่าก็อาจเข้าข่ายเป็นนอมินี
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมฯ ได้สุ่มตรวจสอบนอมินีในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่ามีหลายรายเข้าข่ายนอมินี และส่งให้ดีเอสไอตรวจสอบต่อแล้ว โดยในปี 57 ได้ส่งให้ดีเอสไอตรวจสอบต่อ 7 ราย มีทั้งที่อยู่ในธุรกิจค้าที่ดิน บริษัทนำเที่ยวที่ จ.เชียงราย เป็นต้น
อินโฟเควสท์