- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 13 July 2023 22:02
- Hits: 1603
เงินเฟ้อไทย มิ.ย.66 ต่ำสุดอันดับ 4 ของโลก ปุ๋ยลงแรง สินค้าเกษตรขึ้น ผลไม้ปีทอง
จุรินทร์ เผยเงินเฟ้อไทยเดือน มิ.ย. ที่เพิ่มขึ้น 0.23% ต่ำสุดอันดับ 4 ของโลก หลังราคาสินค้าชะลอตัวลงต่อเนื่อง ส่วนปุ๋ยเคมี ที่เป็นปัจจัยการผลิตภาคการเกษตร ราคาลด ยูเรียลงแรงถึง 53% แต่ข้าว มัน ปาล์ม ข้าวโพด ราคาดีขึ้น รวมถึงผลไม้ ที่ปีนี้เป็นปีทองของชาวสวน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.2566 เพิ่มขึ้น 0.23% ต่ำที่สุดในรอบ 22 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย.2564 และยังชะลอตัวต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน เมื่อเทียบกับอาเซียน เดือน พ.ค. และ มิ.ย. ต่ำที่สุดในอาเซียน เมื่อเทียบกับโลก เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ต่ำที่สุดในโลก เป็นอันดับที่ 6 เทียบกับ 137 ประเทศทั่วโลก
และเดือน มิ.ย. เงินเฟ้อของไทยต่ำที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกเทียบกับ 49 ประเทศในโลก (หลายประเทศตัวเลขเงินเฟ้อยังไม่ออก) ถือว่าไทยสามารถรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดีที่สุดเป็นลำดับ 4 ของโลก ทำให้คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีนี้ เปลี่ยนจากที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.2% เหลือเพียง 1.5% ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลก
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อลดลง เพราะราคาสินค้าที่เป็นหมวดอาหารชะลอตัวต่อเนื่อง ราคาอาหารเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง จาก 6.42% ในเดือนมิ.ย.2565 เป็นเพิ่ม 3.37% ในเดือน มิ.ย.2566 และหมวดที่ไม่ใช่อาหาร จากเดือน มิ.ย.2565 เพิ่ม 8.49% เดือน มิ.ย.2566 ลดลง 1.88% เช่น ราคาน้ำมัน ลด 16.03% เครื่องใช้ไฟฟ้าของใช้ในบ้าน ปีที่แล้ว เพิ่ม 6.79% ปีนี้เพิ่ม 2.04% ส่งผลให้ราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคของคนไทยทั้งประเทศ อยู่ในระดับที่ลดลงมาโดยต่อเนื่อง
โดยเฉพาะสินค้าอาหารที่จำเป็นต่อการบริโภค เช่น หมูเนื้อแดง (9 ก.ค.2566) ราคาเฉลี่ย 136 บาท/กิโลกรัม (กก.) ในห้างสำคัญ เช่น แม็คโคร ล่าสุด 107-109 บาท/กก. ลดลง 27% ราคาไก่ ลดลง 6% ผักหลายตัวราคาก็ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ต้นหอม ลดลง 31% ผักชี ลดลง 38% พริกขี้หนูจินดา ลดลง 22% น้ำมันปาล์ม ลดลง 25% น้ำมันถั่วเหลือง ลดลง 12% ผักกวางตุ้ง ลดลง 8% ผักบุ้งจีน ลดลง 5% เป็นต้น
นอกจากนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลกับเกษตรกร คือ ราคาปุ๋ยเคมี ก็ปรับลดลงมากจากช่วงที่มีราคาสูง เช่น ปุ๋ยยูเรีย ซึ่งใช้เยอะมาก เป็นแม่ปุ๋ยสำคัญ จาก 1,600 บาท/กระสอบ เหลือเฉลี่ย 760 บาท/กระสอบ ลดลง 53% ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ที่ใช้มากสำหรับชาวสวนปาล์ม จาก 1,050 บาท/กระสอบ เหลือ 520 บาท/กระสอบ ลดลง 50% ปุ๋ยฟอสเฟต เร่งดอกจาก 1,900 บาท/กระสอบ เหลือ 1,200 บาท/กระสอบ ลดลง 37% ปุ๋ยโพแทสเซียม เร่งผล ราคาลดลง 37% ปุ๋ยสูตร 15-15-15 จาก 1,475 บาท/กระสอบ เหลือ 1,100 บาท/กระสอบ ลดลง 25% ปุ๋ยข้าว สูตร 16-20-0 ลดลงจาก 1,200 บาท/กระสอบ เหลือ 930 บาท/กระสอบ ลดลง 23% เป็นต้น
ส่วนราคาพืชผลการเกษตร ก็ปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ล่าสุดข้าวหอมมะลิทั้งในและนอกพื้นที่ ข้าวเปลือกปทุม ที่ความชื้น มาตรฐานไม่เกิน 15% สัปดาห์นี้อยู่ที่ 11,400-11,900 บาท/ตัน สูงกว่าราคาที่ประกันมาหลายเดือนแล้ว ข้าวเปลือกเจ้าเกวียนละ 10,300-10,900 บาท/ตัน สูงกว่าราคาที่ประกันที่ 10,000 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเหนียว 12,800-13,600 บาท/ตัน สูงกว่าราคาประกันที่ 12,000 บาท/ตัน มันสำปะหลังราคาสูงกว่าราคาที่ประกัน ปัจจุบัน 3.15-3.55 บาท/กก. จากราคาประกันที่ 2.50 บาท/กก. ปาล์มน้ำมัน ประกันที่กิโลกรัมละ 4 บาท
ปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 5.60-6.70 บาท ที่อัตราน้ำมัน 18% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาประกัน 8.50 บาท/กก. ขณะนี้ราคา 10.90-11.50 บาท/กก. และพืชสามหัวสด ราคาดีขึ้นมากสำหรับปีนี้ หอมหัวใหญ่ปีที่แล้วเฉลี่ย กก.ละ 12.31 บาท ปีนี้ 16 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้น 36% หอมแดง ปีที่แล้วเฉลี่ย 9.50 บาท/กก. ปีนี้ 13 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้น 37% กระเทียมปีที่แล้ว 14 บาท/กก. ปีนี้ 20 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้น 43%
สำหรับ ราคาผลไม้ ปีนี้ถือเป็นปีทองของเกษตรกร โดยทุเรียนภาคตะวันออกหมดฤดูไปแล้ว ทุเรียนเกรด AB ส่งออก ปีที่แล้ว 143 บาท/กก. ปีนี้ 166 บาท/กก. สูงขึ้น 16% เกรด C ปีที่แล้ว 93 บาท/กก. ปีนี้ 127 บาท/กก. สูงขึ้น 37% มังคุดเกรดส่งออก ปีที่แล้ว 61 บาท/กก. ปีนี้ 100 บาท/กก. สูงขึ้น 64% เงาะโรงเรียน ปีที่แล้ว 18 บาท/กก. ปีนี้ 38 บาท/กก. สูงขึ้น 111% และผลไม้ภาคใต้ปีนี้ที่ออกไปแล้วครึ่งหนึ่ง ราคาดีมาก จากมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา
เช่น ทุเรียน เกรด AB ส่งออก ปีที่แล้ว 110 บาท/กก. ปีนี้ 140-150 บาท/กก. สูงขึ้น 25% ทุเรียนเกรดตกไซด์ ปีที่แล้ว 64 บาท/กก. ปีนี้ 90-100 บาท/กก. สูงขึ้น 48% มังคุดเกรดส่งออกปีที่แล้ว 37 บาท/กก. ปีนี้ 75-134 บาท/กก. สูงขึ้น 182% เงาะโรงเรียนปีที่แล้ว 26 บาท/กก. ปีนี้ 33-35 บาท/กก. สูงขึ้น 31% มะม่วงน้ำดอกไม้เกรดส่งออก ปีที่แล้ว 45 บาท/กก. ปีนี้ 50 บาท/กก. สูงขึ้น 11% โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้เกรดคละราคาสูงขึ้นเยอะจาก กก.ละ 20 บาท เป็น 30 บาท/กก. สูงขึ้น 50% มะม่วงมันคละ ปีที่แล้ว 6 บาท/กก. ปีนี้ 10 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 67%
“สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด สามารถควบคุมกำกับดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในอาเซียนต่อเนื่อง 2 เดือนแล้ว อย่างน้อยช่วงเดือน มิ.ย.นี้ ถือว่าต่ำที่สุดเป็นลำดับ 4 ของโลก ถือว่าเราทำได้ดีอย่างยิ่ง ส่งผลให้ภาวะราคาสินค้าทั้งหมด ทั้งอาหารและไม่ใช่อาหาร อยู่ในระดับที่ต่ำลง ส่วนราคาปุ๋ย ก็ถูกลงเยอะมาก ขณะที่ราคาพืชผลการเกษตรทุกตัวราคาดีขึ้น ถือว่าปีนี้จะเป็นปีทองของเกษตรกรอีกปี”นายจุรินทร์กล่าว
พาณิชย์เผย เงินเฟ้อชะลอตัวต่อเนื่อง และปรับตัวเลขคาดการณ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ 🛒🛍️📊💰
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนมิถุนายน 2566 เท่ากับ 107.83 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 107.58 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน ที่ร้อยละ 0.23 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในหมวดอาหาร โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหารที่ราคาปรับลดลง และการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับฐานราคาเดือนมิถุนายน 2565 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ระดับสูง ทั้งนี้ สนค. ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2566 อยู่ระหว่างร้อยละ 1.0 – 2.0 (ค่ากลาง 1.5) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2566) พบว่า อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทย อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม)
📊 อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.23 (YoY) มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
🔹หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
สูงขึ้นร้อยละ 3.37 (YoY) ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ ผักและผลไม้สด (มะนาว ผักคะน้า กะหล่ำปลี เงาะ แตงโม ทุเรียน) ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตมีไม่มาก ประกอบกับความต้องการเพิ่มขึ้นจากการเปิดภาคเรียน และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูป (อาหารเช้า อาหารตามสั่ง) ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงผลิตภัณฑ์นม (นมข้นหวาน ครีมเทียม นมเปรี้ยว) และข้าวสาร ราคาเปลี่ยนแปลงตามการจัดโปรโมชัน อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร เนื่องจากมีปริมาณออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และมีสต็อกสะสมจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ขยายปริมาณการเลี้ยง ไส้กรอก เครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) มะขามเปียก) ผักสดบางชนิด (ผักบุ้ง พริกสด) และอาหารโทรสั่ง (Delivery)
🔹 หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม
ลดลงร้อยละ 1.88 (YoY) ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ โดยปรับลดลงทั้งน้ำมันในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ และเบนซิน นอกจากนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้ง เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า ราคายังคงลดลงต่อเนื่อง รวมถึง เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ ค่าของใช้ส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว น้ำยาระงับกลิ่นกาย ผงซักฟอก น้ำยารีดผ้า) หน้ากากอนามัย และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี ราคาปรับลดลง ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า เนื่องจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือ
เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 1.32 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่อง จากเดือนพฤษภาคม 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 1.55 (YoY) ของภาครัฐ รวมถึง ก๊าซหุงต้ม ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารสาธารณะ (เครื่องบิน จักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์เล็ก/สองแถว)
เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 1.32 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคม 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 1.55 (YoY)
ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.6 (MoM) ตามราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่สูงขึ้นร้อยละ 1.05 อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า จากการสิ้นสุดมาตรการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 150 บาทต่อครัวเรือน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย ค่าเช่าบ้าน เครื่องแบบนักเรียน ค่าจ้างซักรีด ค่าบริการใช้อินเทอร์เน็ต และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างห้องน้ำ สารกำจัดแมลง)
สำหรับ สินค้าที่ราคาลดลง อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซล ค่าของใช้ส่วนบุคคล (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว สบู่ถูตัว โฟมล้างหน้า) ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.02 อาทิ เนื้อสุกร ปลาทู ข้าวสารเจ้า ผักสด (มะเขือ มะนาว ผักบุ้ง) อาหารโทรสั่ง (delivery) และอาหารสำเร็จรูป/แพ็คพร้อมปรุง ส่วนไข่ไก่ ไข่เป็ด นมเปรี้ยว ผักและผลไม้สด (กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักคะน้า ทุเรียน ส้มเขียวหวาน มะม่วง) กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำดื่ม และน้ำหวาน ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย
สำหรับ ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.14 (YoY) และเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าลดลงร้อยละ 0.31 (QoQ) เฉลี่ย 6 เดือนแรก (ม.ค. – มิ.ย.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เงินเฟ้อสูงขึ้นร้อยละ 2.49 (AoA)
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีแนวโน้มทรงตัวและเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ และอยู่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้ง ราคาอาหารบางชนิด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ที่คาดว่าจะลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับฐานราคาในปีก่อนอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ขณะที่ราคาสินค้าบางชนิด โดยเฉพาะผักและผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และอาหารสำเร็จรูป มีแนวโน้มสูงขึ้นจากอิทธิพลของภัยแล้ง รวมทั้งเศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งของโลก แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในหลายภูมิภาค และมาตรการรัฐต่าง ๆ รวมทั้งภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าที่คาด ยังเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดได้
ด้วยปัจจัยดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์จึงปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 จากเดิมอยู่ที่ระหว่างร้อยละ 1.7 – 2.7 (ค่ากลาง 2.2) ในเดือนเมษายน 2566 เป็นระหว่างร้อยละ 1.0 – 2.0 (ค่ากลาง 1.5) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมิถุนายน 2566 ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 56.1 จากระดับ 56.6 ในเดือนก่อนหน้า และยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สะท้อนจากภาคการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น และมาตรการภาครัฐที่ลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
อาทิ การปรับลดค่าไฟฟ้า และการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าและบริการที่อยู่ระดับสูง และช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนและการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน และการลงทุนในภาครัฐชะลอตัว รวมทั้ง ภาระหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยทอนให้ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมปรับลดลง
.
ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแถลงได้ที่
💾🔽 http://www.tpso.moc.go.th/th/node/8939
ไทยแชมป์ส่งออกผลไม้จีน มีส่วนแบ่งตลาด 41.3% ทุเรียน-ลำไย-มังคุด ยึดเกือบเต็ม 100%
สนค.วิเคราะห์ตลาดผลไม้จีน พบไทยครองแชมป์ มีส่วนแบ่งตลาดในภาพรวม 41.3% หากแยกเป็นรายตัว ทุเรียนครองส่วนแบ่งตลาด 95.3% ลำไย 99.3% มังคุด 86.8% มะพร้าว 69.2% น้อยหน่า 100% ชมพู่ 100% เงาะ 82.4% แนะผู้ประกอบการเข้มคุณภาพ มาตรฐาน ให้ดีกว่าคู่แข่ง และกระจายส่งออกไปยังตลาดอื่นเพิ่ม รวมถึงเจาะจีนเป็นรายมณฑล
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการวิเคราะห์ความท้าทายและโอกาสของการส่งออกผลไม้ไปจีน พบว่า ปัจจุบันไทยเป็นแหล่งนำเข้าผลไม้อันดับหนึ่งของจีน
โดยในปี 2565 ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดผลไม้ในจีน ร้อยละ 41.3 รองลงมาเป็นชิลี มีสัดส่วนร้อยละ 24.4 และทั้งสองประเทศรวมกัน มีส่วนแบ่งในตลาดผลไม้นำเข้าของจีนถึงร้อยละ 65.7 แต่ผลจากตลาดตลาดผลไม้ในจีนที่เติบโตสูง ทำให้มีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น คู่แข่งสำคัญ เช่น เวียดนาม ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 9.3 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 4.9 นิวซีแลนด์ ร้อยละ 4.6 เปรู ร้อยละ 4.2 แอฟริกาใต้ ร้อยละ 1.9 กัมพูชา ร้อยละ 1.8 ออสเตรเลีย ร้อยละ 1.6 และอินโดนีเซีย ร้อยละ 1.4
ทั้งนี้ ยังพบว่า หลายประเทศมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงมาก แต่มูลค่าในตลาดยังน้อย ซึ่งสะท้อนในเห็นถึงความต้องการที่เริ่มมีในตลาด เช่น เมียนมา ขยายตัวร้อยละ 583.8 สเปน ร้อยละ 105.6 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร้อยละ 169.3 บราซิล ร้อยละ 415.8 คอสตาริก้า ร้อยละ 470.9 เป็นต้น
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันผลไม้ที่สำนักงานศุลกากรจีน (GACC) อนุญาตให้นำเข้าจากไทย มี 22 ชนิด ได้แก่ มะขาม น้อยหน่า มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง เงาะ ลองกอง ละมุด เสาวรส ส้มเปลือกล่อน ส้ม ส้มโอ สับปะรด กล้วย มะพร้าว ขนุน ลำไย ทุเรียน มะม่วง ลิ้นจี่ มังคุด และชมพู่
โดยผลไม้สดที่ไทยครองตลาดในจีน ได้แก่ ทุเรียน ส่วนแบ่งการตลาด ร้อยละ 95.3 ลำไย ร้อยละ 99.3 มังคุด ร้อยละ 86.8 มะพร้าว ร้อยละ 69.2 น้อยหน่า ร้อยละ 100 ชมพู่ ร้อยละ 100 และ เงาะ ร้อยละ 82.4 เนื่องจากไทยสามารถผลิตได้ในปริมาณมากและมีคุณภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
สำหรับ สินค้าที่จีนต้องการนำเข้า แต่ไทยไม่สามารถเพาะปลูกให้เกิดความได้เปรียบได้ เช่น เชอรี่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ องุ่น แก้วมังกร กีวี แอปเปิล อะโวคาโด พีช สตอเบอร์รี่ พรุน และสาลี่ เป็นต้น โดยผลไม้เหล่านี้มีสัดส่วนร้อยละ 40.7 ของตลาดผลไม้ในจีน แต่หากไทยมีการพัฒนาศักยภาพการผลิตในบางสินค้าและผลักดันให้เป็นสินค้าส่งออกเชิงพาณิชย์ได้ ก็จะเป็นโอกาสทางการค้าได้ในอนาคต
นอกจากนี้ จากการแข่งขันที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องรักษามาตรฐานด้านสุขอนามัย ความปลอดภัย และคุณภาพของผลไม้ เป็นสิ่งที่ไทยต้องทำต่อเนื่อง และยกระดับให้ดีขึ้นกว่าประเทศคู่แข่งอื่น ๆ และควรผลักดันนโยบายการกระจายตลาดลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดเดียว โดยกระจายตลาดส่งออกผลไม้ไปยังตลาดใหม่ๆ ที่มีกำลังซื้อเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด
โดยเฉพาะตลาดที่มีการนำเข้าผลไม้จากโลกในสัดส่วนที่สูง และไทยยังมีส่วนแบ่งในตลาดนั้นไม่มาก เช่น สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร แคนาดา ญี่ปุ่น ฮ่องกง เบลเยี่ยม อิตาลี โปแลนด์ สเปน และเกาหลีใต้ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ควรขยายตลาดลงสู่ระดับมณฑลของจีนให้มากขึ้น ตามการพัฒนาความเป็นเมืองในมณฑลต่างๆ ของจีนที่ขยายตัวขึ้น ส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงคุณภาพชีวิตของชาวชนบทในจีนดีขึ้น
โดยเฉพาะในมณฑลที่มีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้ทันสมัย จะช่วยหนุนให้การส่งออกผลไม้เข้าสู่ภายในตัวเมืองชั้นในของจีนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกผลไม้ไปจีนเพิ่มขึ้นในระดับมณฑล โดยเฉพาะประชากรในภาคตะวันตกและภาคกลางของจีนที่ยังมีพัฒนาการความเป็นเมืองน้อยกว่าภาคตะวันออกและใต้