- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 17 June 2023 18:28
- Hits: 57
สนค.เผยทั่วโลกเริ่มฮิตเสื้อผ้าจากวัสดุรีไซเคิล แนะรัฐหนุนองค์ความรู้ ผู้ผลิตรีบฉวยโอกาส
สนค.เผยแนวโน้มผู้บริโภคทั่วโลก ต้องการเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิลเพิ่มมากขึ้น เหตุต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หลายแบรนด์ดัง ทั้ง Patagonia H&M UNIQLO เริ่มผลิตเสื้อผ้าที่ใช้วัตถุดิบรีไซเคิล ส่วนไทยก็มีหลายราย แนะภาครัฐช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ การพัฒนาเทคโนโลยี ผู้ประกอบการรีบหาโอกาสและศึกษากฎระเบียบคู่ค้าให้ดี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามแนวโน้มความต้องการเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิล (Textile recycling) พบว่า ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากเห็นว่าการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแบบเดิม ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม
โดยการผลิตสิ่งทอทั้งโลกมีการใช้น้ำประมาณ 9.3 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม มีการปล่อยน้ำเสียร้อยละ 20 ของการปล่อยน้ำเสียทั่วโลก และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 1.7 พันล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 8-10 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก มากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางทะเลรวมกัน หากมีการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภค อาจจะก่อให้เกิดมลพิษจากการผลิตและกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัทเสื้อผ้าชั้นนำเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติด้านอุตสาหกรรมแฟชันว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Fashion Industry Charter for Climate Action) มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ส่งผลให้ผู้ผลิตเสื้อผ้าปรับเปลี่ยนการออกผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิลเพิ่มขึ้น
เช่น สหรัฐฯ แบรนด์ Patagonia ซึ่งผลิตเสื้อผ้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง มีเสื้อผ้าร้อยละ 70 ที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล สวีเดน แบรนด์ H&M และญี่ปุ่น แบรนด์ UNIQLO มีการรับเสื้อผ้าที่ใช้แล้วไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าใหม่
ส่วนไทย มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิลปี 2575 จะอยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 0.5 ของมูลค่าตลาดเสื้อผ้าทั้งหมดของไทย และมีผู้ประกอบการไทยหลายรายปรับตัวมาผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุสิ่งทอรีไซเคิลแล้ว เช่น แบรนด์ Circular ได้นำเศษผ้าและเสื้อผ้าเก่าไปแปลงสภาพเป็นสิ่งทอรีไซเคิลที่นำไปผลิตเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า และเฟอร์นิเจอร์
เพื่อขายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงแบรนด์ Moreloop ที่เป็นบริษัทสตาร์ทอัป ได้นำผ้าที่เหลือจากกระบวนการผลิตของโรงงานเสื้อผ้ามาผลิตเป็นเสื้อผ้าและกระเป๋า อีกทั้งยังนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเป็นตัวกลางระหว่างโรงงานที่ต้องการขายผ้าเหลือ และผู้ซื้อต้องการผ้าในตลาดออนไลน์
สำหรับ ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกสิ่งทอรีไซเคิล สามารถดำเนินการจัดทำมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ซึ่งโดยส่วนใหญ่อยู่บนหลักความสมัครใจ เช่น Global Recycle Standard (GRS) คือ มาตรฐานระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองจากองค์กรด้านสิ่งทอในต่างประเทศ เพื่อบ่งบอกว่าบริษัทผลิตสินค้าที่มาจากการรีไซเคิลที่ยั่งยืน
รวมทั้งการใช้วัตถุดิบรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อคนและสิ่งแวดล้อม และ OEKO-TEX® Standard 100 คือ การทดสอบมาตรฐานสินค้าระดับสากลของสถาบันทดสอบสิ่งทอ (The International Association for Research and Testing in the Field of Textile Ecology) โดยใช้การทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ตรวจสารตกค้างในผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ตรวจสอบในเรื่องของกระบวนการผลิตและการประกันคุณภาพสินค้า
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องศึกษา ทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศคู่ค้าควบคู่กันไปด้วย โดยสหภาพยุโรป มีฉลากสิ่งแวดล้อมแห่งสหภาพยุโรป (EU Ecolabel/EU Flower) ที่ระบุสรรพคุณสินค้าได้ว่ามีมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมที่สูงและเป็นมิตรต่อทั้งผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม สหราชอาณาจักร มีฉลากชนิดเส้นใยและอัตราส่วนผสม (Fiber name and fiber composition) เพื่อระบุชื่อเส้นใยหรือสัญลักษณ์ต่างๆ ตามที่กฎหมายระบุให้ประชาชนรับทราบ เป็นต้น
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายที่เกี่ยวกับการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสินค้าบนพื้นฐาน BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นแนวคิดการลดขยะและมลพิษ รวมทั้งการหมุนเวียนวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ เช่น โครงการพัฒนาสินค้าผ้าไทยสู่ตลาดโลกด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ที่นำเศษผ้าจากการตัดและทอผ้า มาเรียงสีแล้วนำไปทอใหม่ก่อนนำไปตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า
และยังมีโครงการ Local BCG Plus ที่ผลักดันสินค้าท้องถิ่นที่รักษาสิ่งแวดล้อม มีอัตลักษณ์ และมีนวัตกรรม ออกสู่ตลาด เช่น การพัฒนาเสื้อผ้า ‘ผ้ามัดย้อมมูลวัว’ ที่นำมูลวัวมาเป็นน้ำย้อมผ้า นับเป็นการนำของเสียมาแปรรูปให้เกิดมูลค่า ซึ่งถือเป็นการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
“ตลาดเสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล นับเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจที่น่าจับตามองในอนาคต เนื่องจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ภาครัฐจึงควรให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการทั้งเรื่องการส่งเสริมองค์ความรู้และการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อยกระดับศักยภาพการผลิตเสื้อผ้ารีไซเคิลของไทย
ส่วนผู้ประกอบการควรศึกษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบและการรับรองมาตรฐานสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขยายช่องทางการตลาดระดับโลกโดยเฉพาะคู่ค้าที่ให้ความสำคัญแก่สิ่งแวดล้อม”นายพูนพงษ์กล่าว