- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 17 June 2023 18:04
- Hits: 66
เศรษฐกิจฟื้น ไฟ น้ำมันลด เลือกตั้ง ดันดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค. สูงสุด 53 เดือน
สนค.เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค.66 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 และสูงสุดในรอบ 53 เดือน ได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจากภาคการท่องเที่ยว รัฐช่วยลดค่าไฟ น้ำมันลดลง และเป็นเดือนของการเลือกตั้ง ชี้เฉพาะเลือกตั้ง ทำความเชื่อมั่นด้านการเมืองสูงขึ้นต่อเนื่อง คาดหากเศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่อง การเมืองชัดเจน จะดันความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือนพ.ค.2566 ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.6 จากเดือนเม.ย.2566 ที่อยู่ที่ระดับ 53.5 ซึ่งอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 สูงสุดในรอบ 53 เดือน
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว มาตรการภาครัฐจากการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้ากลุ่มครัวเรือน ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง รวมถึงเป็นเดือนของการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ หากพิจารณาปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่น 9 ด้าน คือ เศรษฐกิจไทย , เศรษฐกิจโลก , มาตรการของรัฐ สังคม , ความมั่นคง การเมือง , การเลือกตั้ง , ภัยพิบัติ โรคระบาด , ราคาสินค้าเกษตร , ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และอื่นๆ พบว่า ปัจจัยด้านการเมืองและการเลือกตั้งมีความสำคัญต่อความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากเดือน ม.ค.2566 ประชาชนเลือกปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นเป็นด้านการเมืองและการเลือกตั้งร้อยละ 5.7 ต่อมาปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 7.8 , 9.2 และ 13.4 ในเดือนก.พ. มี.ค. และเม.ย. ตามลำดับ และเฉพาะเดือน พ.ค. ที่เป็นช่วงของการเลือกตั้ง ปัจจัยด้านการเมืองปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 19.9
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ปัจจัยด้านการเมืองที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นจำแนกตามภูมิภาค ช่วงอายุ อาชีพ และรายได้ ของเดือน พ.ค.2566 เทียบกับเดือน ม.ค.2566 พบว่า ประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง ปรับเพิ่มจากร้อยละ 5.2 เป็นร้อยละ 22.0 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับเพิ่มจากร้อยละ 6.0 เป็นร้อยละ 22.0 ภาคเหนือ ปรับเพิ่มจากร้อยละ 6.1 เป็นร้อยละ 21.3 ภาคใต้ ปรับเพิ่มจากร้อยละ 5.1 เป็นร้อยละ 18.3 กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับเพิ่มจากร้อยละ 6.7 เป็นร้อยละ 17.1
ส่วนการพิจารณาตามช่วงอายุ พบว่า ประชาชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ปรับเพิ่มจากร้อยละ 6.9 เป็นร้อยละ 14.5 อายุ 20-29 ปี ปรับเพิ่มจากร้อยละ 7.1 เป็นร้อยละ 19.0 อายุ 30-39 ปี ปรับเพิ่มจากร้อยละ 5.6 เป็นร้อยละ 19.1 อายุ 40-49 ปี ปรับเพิ่มจากร้อยละ 4.9 เป็นร้อยละ 21.9 อายุ 50-59 ปี ปรับเพิ่มจากร้อยละ 5.4 เป็นร้อยละ 18.5 ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ปรับเพิ่มจากร้อยละ 6.2 เป็นร้อยละ 25.4
เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอาชีพ พบว่า พนักงานเอกชน ปรับเพิ่มจากร้อยละ 5.6 เป็นร้อยละ 26.1 ผู้ประกอบการ ปรับเพิ่มจากร้อยละ 5.3 เป็นร้อยละ 20.3 รับจ้างอิสระ ปรับเพิ่มจากร้อยละ 6.1 เป็นร้อยละ 19.6 พนักงานของรัฐ ปรับเพิ่มจากร้อยละ 6.1 เป็นร้อยละ 18.3 ไม่ได้ทำงาน บำนาญ ปรับเพิ่มจากร้อยละ 9.5 เป็นร้อยละ 18.0 นักศึกษา ปรับเพิ่มจากร้อยละ 9.0 เป็นร้อยละ 14.8 เกษตรกร ปรับเพิ่มจากร้อยละ 3.6 เป็นร้อยละ 11.2
เมื่อพิจารณาตามรายได้ พบว่า ประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท ปรับเพิ่มจากร้อยละ 5.1 เป็นร้อยละ 14.9 รายได้ 5,000-10,000 บาท ปรับเพิ่มจากร้อยละ 7.0 เป็นร้อยละ 18.5 รายได้ 10,001-20,000 บาท ปรับเพิ่มจากร้อยละ 5.4 เป็นร้อยละ 17.9 รายได้ 20,001-30,000 บาท ปรับเพิ่มจากร้อยละ 4.8 เป็นร้อยละ 23.7 รายได้ 30,001-40,000 บาท ปรับเพิ่มจากร้อยละ 7.4 เป็นร้อยละ 25.9 รายได้ 40,001-50,000 บาท ปรับเพิ่มจากร้อยละ 4.1 เป็นร้อยละ 26.4 รายได้ 50,001-100,000 บาท ปรับเพิ่มจากร้อยละ 3.3 เป็นร้อยละ 24.8 รายได้ 100,000 บาทขึ้นไป ปรับเพิ่มจากร้อยละ 5.9 เป็นร้อยละ 14.3
ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือน พ.ค.2566 ที่ปรับเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคและกลุ่มอาชีพ มีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ รองลงมาเป็นกิจกรรมทางการเมืองและการเลือกตั้ง ที่มีสัดส่วนปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในเดือนนี้ หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์การเมืองมีความชัดเจน น่าจะรักษาให้ระดับของความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในช่วงเชื่อมั่นได้อย่างต่อเนื่องต่อไป”นายพูนพงษ์กล่าว