WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1 เศรษฐกิจดิจิทัล

อาเซียนเร่งเครื่องเศรษฐกิจดิจิทัล อัปเกรดความตกลงสินค้า ถกคู่เจรจาร่วมมือการค้าใหม่

อาเซียนประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ (SEOM) ติดตามแผนงานด้านเศรษฐกิจที่จะผลักดันให้เสร็จในปีนี้ เน้นผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล อัปเกรดความตกลงการค้าสินค้า เร่งลงนามความตกลงเศรษฐกิจที่เจรจาจบแล้ว

พร้อมถก 6 คู่เจรจาการค้า เดินหน้าร่วมมือประเด็นการค้าใหม่ ทั้งเศรษฐกิจหมุนเวียน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และติดตามความคืบหน้าการยกระดับ FTA กับจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และเจรจา FTA กับแคนาดา

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 2/54 และการประชุมกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และแคนาดา ระหว่างวันที่ 22-26 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อติดตามการดำเนินการตามแผนงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียน และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เสริมสร้างการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจและการค้าในภูมิภาค

รวมทั้งเร่งรัดติดตามความคืบหน้าการเจรจายกระดับความตกลง FTA กับประเทศคู่เจรจาให้มีความทันสมัย และโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งผลการหารือจะนำไปสรุปเพื่อรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (AEM) ในช่วงเดือนส.ค.2566 ต่อไป

นายดวงอาทิตย์ กล่าวถึงผลการประชุมว่า ในด้านการติดตามแผนงานด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมเน้นการดำเนินงานที่จะต้องแล้วเสร็จในปีนี้ ได้แก่ 1.การเจรจายกระดับความตกลง FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ โดยสรุปผลการเจรจาและลงนามให้ได้ในปีนี้ เพื่อขยายการค้าสินค้า การบริการและการลงทุนให้มากขึ้น และรองรับรูปแบบการค้าใหม่ๆ 2.การศึกษากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (DEFA) เพื่อให้ผู้นำสามารถประกาศเริ่มต้นการเจรจาได้ในปีนี้ 3.การหาข้อยุติการจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินการตามความตกลง RCEP โดยเร็ว

4.การเร่งรัดให้ประเทศสมาชิกเร่งกระบวนการภายในเพื่อให้สามารถลงนามความตกลงด้านเศรษฐกิจที่เจรจาเสร็จแล้ว เช่น พิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาของอาเซียน ข้อตกลงการยอมรับร่วม (MRA) สำหรับผลิตภัณฑ์วัสดุอาคาร สิ่งก่อสร้าง ความตกลงข้อบังคับด้านความปลอดภัยอาหารของอาเซียน และ 5.การเร่งเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA Upgrade) ให้มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อรายงานต่อที่ประชุม AEM ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน ส.ค.นี้

นอกจากนี้ อาเซียนได้ติดตามการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเสริมสร้างการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น การจัดทำระบบสืบค้นอัตราภาษีอาเซียนแบบใหม่ (New ASEAN Tariff Finder) จะช่วยค้นหาข้อมูลพิกัดศุลกากร อัตราภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษีให้ง่าย สะดวกและเป็นปัจจุบันมากขึ้น การพัฒนาระบบเชื่อมโยงหมายเลขทะเบียนทางธุรกิจของนิติบุคคลในอาเซียน (Unique Business Identification Number: UBIN) จะช่วยค้นหาข้อมูลนิติบุคคลที่จดทะเบียนในอาเซียน ซึ่งจะสร้างความมั่นใจในการทำธุรกิจภายในภูมิภาค และการผลักดันการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ารูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อนำไปสู่การค้าไร้กระดาษในภูมิภาค

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้พบหารือกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และแคนาดา ซึ่งเป็นการพบกันครั้งแรกของปีนี้ เพื่อผลักดันการดำเนินการภายใต้แผนงานทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้มากขึ้น โดยเน้นสาขาที่เป็นประเด็นการค้าใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เศรษฐกิจหมุนเวียน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม

ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนวาระการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและความยั่งยืนของอาเซียน สำหรับการประชุมกับจีน อินเดีย และเกาหลีใต้ ได้เร่งรัดติดตามการเจรจายกระดับความตกลง FTA ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และแคนาดา ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างกัน

ทั้งนี้ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ได้ผลักดันการดำเนินการรวมกลุ่มของอาเซียน ภายใต้แนวคิดบทบาทอาเซียนที่มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการเจริญเติบโต (ASEAN Matters : Epicentrum of Growth) เน้นย้ำความสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลก โดยอาเซียนมีเป้าหมายจะผลักดันการค้าระหว่างกันถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568

ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 124,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 71,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 53,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วง 3 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 30,633.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1.1% โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 17,174.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 13,458.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

 

Click Donate Support Web  

kasat 720x100CKPower 720x100MTL 720x100TU720x100sme 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100pxPF 720x100

 

TOA 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!