- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 04 June 2023 14:27
- Hits: 2042
อาเซียนเร่งเครื่องเศรษฐกิจดิจิทัล อัปเกรดความตกลงสินค้า ถกคู่เจรจาร่วมมือการค้าใหม่
อาเซียนประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ (SEOM) ติดตามแผนงานด้านเศรษฐกิจที่จะผลักดันให้เสร็จในปีนี้ เน้นผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล อัปเกรดความตกลงการค้าสินค้า เร่งลงนามความตกลงเศรษฐกิจที่เจรจาจบแล้ว
พร้อมถก 6 คู่เจรจาการค้า เดินหน้าร่วมมือประเด็นการค้าใหม่ ทั้งเศรษฐกิจหมุนเวียน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และติดตามความคืบหน้าการยกระดับ FTA กับจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และเจรจา FTA กับแคนาดา
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 2/54 และการประชุมกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และแคนาดา ระหว่างวันที่ 22-26 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อติดตามการดำเนินการตามแผนงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียน และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เสริมสร้างการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจและการค้าในภูมิภาค
รวมทั้งเร่งรัดติดตามความคืบหน้าการเจรจายกระดับความตกลง FTA กับประเทศคู่เจรจาให้มีความทันสมัย และโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งผลการหารือจะนำไปสรุปเพื่อรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (AEM) ในช่วงเดือนส.ค.2566 ต่อไป
นายดวงอาทิตย์ กล่าวถึงผลการประชุมว่า ในด้านการติดตามแผนงานด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมเน้นการดำเนินงานที่จะต้องแล้วเสร็จในปีนี้ ได้แก่ 1.การเจรจายกระดับความตกลง FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ โดยสรุปผลการเจรจาและลงนามให้ได้ในปีนี้ เพื่อขยายการค้าสินค้า การบริการและการลงทุนให้มากขึ้น และรองรับรูปแบบการค้าใหม่ๆ 2.การศึกษากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (DEFA) เพื่อให้ผู้นำสามารถประกาศเริ่มต้นการเจรจาได้ในปีนี้ 3.การหาข้อยุติการจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินการตามความตกลง RCEP โดยเร็ว
4.การเร่งรัดให้ประเทศสมาชิกเร่งกระบวนการภายในเพื่อให้สามารถลงนามความตกลงด้านเศรษฐกิจที่เจรจาเสร็จแล้ว เช่น พิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาของอาเซียน ข้อตกลงการยอมรับร่วม (MRA) สำหรับผลิตภัณฑ์วัสดุอาคาร สิ่งก่อสร้าง ความตกลงข้อบังคับด้านความปลอดภัยอาหารของอาเซียน และ 5.การเร่งเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA Upgrade) ให้มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อรายงานต่อที่ประชุม AEM ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน ส.ค.นี้
นอกจากนี้ อาเซียนได้ติดตามการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเสริมสร้างการอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น การจัดทำระบบสืบค้นอัตราภาษีอาเซียนแบบใหม่ (New ASEAN Tariff Finder) จะช่วยค้นหาข้อมูลพิกัดศุลกากร อัตราภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษีให้ง่าย สะดวกและเป็นปัจจุบันมากขึ้น การพัฒนาระบบเชื่อมโยงหมายเลขทะเบียนทางธุรกิจของนิติบุคคลในอาเซียน (Unique Business Identification Number: UBIN) จะช่วยค้นหาข้อมูลนิติบุคคลที่จดทะเบียนในอาเซียน ซึ่งจะสร้างความมั่นใจในการทำธุรกิจภายในภูมิภาค และการผลักดันการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ารูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อนำไปสู่การค้าไร้กระดาษในภูมิภาค
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้พบหารือกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และแคนาดา ซึ่งเป็นการพบกันครั้งแรกของปีนี้ เพื่อผลักดันการดำเนินการภายใต้แผนงานทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้มากขึ้น โดยเน้นสาขาที่เป็นประเด็นการค้าใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เศรษฐกิจหมุนเวียน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม
ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนวาระการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและความยั่งยืนของอาเซียน สำหรับการประชุมกับจีน อินเดีย และเกาหลีใต้ ได้เร่งรัดติดตามการเจรจายกระดับความตกลง FTA ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และแคนาดา ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างกัน
ทั้งนี้ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ได้ผลักดันการดำเนินการรวมกลุ่มของอาเซียน ภายใต้แนวคิดบทบาทอาเซียนที่มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการเจริญเติบโต (ASEAN Matters : Epicentrum of Growth) เน้นย้ำความสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลก โดยอาเซียนมีเป้าหมายจะผลักดันการค้าระหว่างกันถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568
ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 124,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 71,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 53,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วง 3 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 30,633.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1.1% โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 17,174.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 13,458.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์