- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 04 June 2023 13:26
- Hits: 1835
เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ฉุดส่งออกเม.ย.66 ลด 7.6% ลบต่อเนื่อง 7 เดือนติด
พาณิชย์ เผยส่งออก เม.ย.66 ทำได้มูลค่า 21,723.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 7.6% ลบต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ด้านสินค้าอุตสาหกรรมลด 11.2% สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่ม 8.2% รวมยอด 4 เดือนลบ 5.2% คาดเดือนต่อไปยังลด เหตุคู่ค้าสต๊อกสูง แต่จะเริ่มดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง ชี้เศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อสูง ปัญหาสถาบันการเงิน ยังเป็นตัวกดดัน ระบุตลาดจีน เริ่มดีขึ้น ภัยแล้งหนุนส่งออกสินค้าเกษตร มั่นใจทั้งปีโตได้ 1-2%
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนเม.ย.2566 มีมูลค่า 21,723.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.6% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และฐานปีก่อนที่สูงมาก และเมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 737,788.3 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 23,195.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.3% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 797,372.7 ล้านบาท ขาดดุลการค้า มูลค่า 1,471.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 59,584.5 ล้านบาท
รวมส่งออก 4 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 92,002.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 5.2% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 3,110,977.2 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 96,519.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 2.2% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 3,305,763.2 ล้านบาท ขาดดุลการค้า มูลค่า 4,516.0 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 194,786.0 ล้านบาท
สำหรับ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ในเดือนเม.ย.2566 ลดลง 11.2% หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง เป็นต้น
ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 8.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ข้าว เครื่องดื่ม ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผักกระป๋องและผักแปรรูป นมและผลิตภัณฑ์นม ส่วนสินค้าที่ลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อาหารสัตว์เลี้ยง
ทางด้านการส่งออกไปตลาดสำคัญ ส่วนใหญ่กลับมาหดตัว โดยตลาดหลักลด 6.2% จากการลดลงของตลาดสหรัฐฯ 9.6% ญี่ปุ่น 8.1% อาเซียน (5 ประเทศ) 17.7% CLMV 17% และสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) 8.2% แต่ตลาดจีนกลับมาขยายตัว 23% ตลาดรอง ลด 14.9%
โดยหดตัวในตลาดเอเชียใต้ 25.9% ตะวันออกกลาง 16.7% แอฟริกา 26.9% ลาตินอเมริกา 9.4% แต่ขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย 4.4% ตลาดรัสเซียและกลุ่ม CIS 155.4% และสหราชอาณาจักร 49% และตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 72.2% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 77.9%
ขณะที่การค้าชายแดนและผ่านแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในตัวเลขการส่งออกรวม เดือนเม.ย.2566 การค้ารวมมีมูลค่า 149,810 ล้านบาท เพิ่ม 14.2% แยกเป็นการส่งออก มูลค่า 90,783 ล้านบาท เพิ่ม 22.3% และนำเข้า มูลค่า 59,027 ล้านบาท เพิ่ม 3.57% โดยส่งออกชายแดน ไปสปป.ลาว เพิ่มขึ้น แต่ส่งออกไปมาเลเซีย เมียนมา และกัมพูชาลดลง และการส่งออกผ่านแดนไปจีน สิงคโปร์และเวียดนาม เพิ่มขึ้นทุกตลาด
นายกีรติ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกเดือนต่อไป คาดว่า จะยังติดลบอยู่ เนื่องจากสต๊อกสินค้าของประเทศคู่ค้ายังมีอยู่ ทำให้ชะลอการสั่งซื้อสินค้า แต่จะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนปัจจัยที่กดดันการส่งออก ยังคงเป็นเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายประเทศใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวดต่อไป และยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ปัญหาวิกฤตการเงินของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ และยุโรป และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ที่สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ การฟื้นตัวของตลาดจีนที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เป็นสัญญาณบวกต่อการส่งออกไทย ขณะที่ปัญหาความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นในหลายประเทศที่ประสบปัญหาภัยแล้งจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปีนี้ และกระทรวงพาณิชย์ยังเป้าการส่งออกทั้งปีไว้ที่ขยายตัว 1-2%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การส่งออกเดือน เม.ย.2566 ที่ลดลง 7.6% เป็นการส่งออกติดลบต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 ที่ลดลง 4.4% พ.ย.2565 ลด 6% ธ.ค.2565 ลด 14.6% ม.ค.2566 ลด 4.5% ก.พ.2566 ลด 4.7% มี.ค.ลด 4.2%