- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 04 June 2023 13:04
- Hits: 1839
พาณิชย์ โชว์ผลแมชชิ่ง'กล้วยสด-แปรรูป'ขายได้ 2,000 ตัน มูลค่ากว่า 1 พันล้าน
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โชว์ผลจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจสินค้ากล้วยสดและแปรรูปในงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2023 ขายกล้วยสดได้ 2,000 ตัน รวมถึงผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูป ทำเงิน 1,070.55 ล้านบาท “ทูตพาณิชย์ญี่ปุ่น” เตรียมสร้างความเชื่อมั่น นำผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นลงสวนกล้วย ติวเข้มวิธีการส่งออกไปญี่ปุ่น
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยถึงผลการจัดกิจกรรมเจรจาการค้าสินค้ากล้วยสดและแปรรูป ในงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2023 ว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว นำผู้นำเข้าญี่ปุ่นรวม 10 บริษัท มาพบปะเจรจาการค้ากับผู้ส่งออกสินค้ากล้วยและผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปของไทยรวม 23 บริษัท 38 ราย โดยเบื้องต้นได้รับรายงานว่าน่าจะเกิดการสั่งซื้อสินค้ากล้วยหอมจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2,000 ตัน รวมถึงผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูป คิดเป็นมูลค่า 1,070.55 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยสามารถส่งออกกล้วยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้สูงสุดเพียง 2,890 ตันต่อปี แม้ว่าญี่ปุ่นจะเปิดตลาดสินค้ากล้วยให้กับไทยภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ถึง 8,000 ตัน กรมฯ จึงเห็นโอกาสในการผลักดันกล้วยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น จึงได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ญี่ปุ่น เร่งประสานผู้ซื้อ ผู้นำเข้า เพื่อมาเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ส่งออกของไทย
นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว กล่าวว่า สาเหตุที่กล้วยไทยแข่งขันในตลาดญี่ปุ่นได้น้อย แม้ว่าจะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า เพราะมีการแข่งขันอย่างรุนแรงจากฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นเจ้าตลาด โดยปัจจุบันครองตลาดอยู่ถึง 76% หรือประมาณ 3 ใน 4 ของตลาดกล้วยในญี่ปุ่นทั้งหมด แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ฟิลิปปินส์ได้ประกาศขึ้นราคากล้วยหอมในญี่ปุ่นด้วยเหตุผลทางด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และฟิลิปปินส์ยังประสบปัญหาโรคระบาดในกล้วย ทำให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิต จึงเป็นโอกาสที่กล้วยไทยจะเข้าไปช่วงชิงตลาด
สำหรับ การจัดกิจกรรม สำนักงานฯ ได้นำซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ เช่น Gyomu Super ซึ่งมีกว่า 1,050 สาขา และ Beisia ซึ่งมีกว่า 130 สาขาทั่วญี่ปุ่น พร้อมด้วยผู้นำเข้าที่มีศักยภาพรวม 10 บริษัท เดินทางมาพบปะเจรจาการค้ากับผู้ส่งออกและกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอม ผู้ผลิตกล้วยแปรรูป และได้เชิญผู้ประกอบการกล้วยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของไทย มาเข้าร่วมกิจกรรม
อย่างไรก็ตาม หลังจากจัดกิจกรรมในครั้งนี้แล้ว สำนักงานฯ ยังมีแผนงานต่อเนื่องในการนำผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นลงไปให้ความรู้และเตรียมความพร้อมในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน สำหรับการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ให้แก่กลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกกล้วยไทยในช่วงเดือนก.ค.2566