WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1 พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

สนค.ระดมสมองรับมือสหรัฐฯ-จีน เปิดศึกแยกห่วงโซ่อุปทาน พบมีทั้งโอกาสและท้าทาย

สนค. ระดมสมองผลการแยกห่วงโซ่อุปทาน หลังเกิดความขัดแย้งสหรัฐฯ กับจีน ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ พบไทยมีทั้งโอกาสและความท้าทาย ในด้านการค้าและการลงทุน แนะศึกษาเจาะลึกเป็นรายรัฐ มณฑล เพื่อหาตลาด พัฒนาแรงงานฝีมือให้พร้อม ส่วนนโยบายลงทุน ต้องปรับให้เอื้อ เพิ่มแรงจูงใจ เร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ และควรใช้ประโยชน์จาก FTA สร้างแต้มต่อ เผยจะเร่งสรุปทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนค. อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ของอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างสหรัฐฯ และจีน และนัยยะต่อเศรษฐกิจการค้าไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้จัดการประชุมระดมสมองร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สมาคมการค้า และผู้แทนบริษัทที่เกี่ยวข้องในประเด็นดังกล่าว

ซึ่งได้ข้อมูลว่า การแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐฯ กับจีน มีแนวโน้มเร่งตัวรุนแรงขึ้น โดยทั้งสองชาติมหาอำนาจต่างต้องการลดการพึ่งพาระหว่างกัน จากทั้งสหรัฐฯ ที่คำนึงถึงความสำคัญของความมั่นคงและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานของประเทศ ประกอบกับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19 ขณะที่จีนเองก็ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว จึงพยายามลดความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายทางด้านการค้าและการลงทุน

ทั้งนี้ ในด้านการเคลื่อนย้ายทางการค้า พบว่า ไทยมีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์จากการแยกห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นจากการขยายการส่งออกในทั้งสองประเทศ แต่ยังมีความท้าทายในการขยายส่วนแบ่งการส่งออกของไทยในตลาดโลก ในขณะที่การเคลื่อนย้ายการลงทุนในเทคโนโลยีสำคัญและขั้นสูง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะผลักดันเศรษฐกิจยุคใหม่ต่อไปในอนาคต พบว่า สหรัฐฯ เร่งส่งเสริมการลงทุนในประเทศมากขึ้น และสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตจากต่างประเทศกลับมายังสหรัฐฯ รวมถึงจับมือกับประเทศพันธมิตรขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญ

ขณะที่ในจีนเกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนออกนอกประเทศ โดยมีทั้ง 2 รูปแบบ ทั้งเกิดจากบริษัทสัญชาติจีนเองที่ต้องการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่ต้องการมีฐานการผลิตนอกจีน และบริษัทสัญชาติอื่นแต่อยู่ในจีน จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตออกมาเพื่อลดความเสี่ยงทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น โดยบริษัทดังกล่าวมีแนวโน้มย้ายมายังอาเซียนรวมถึงไทย

ดังนั้น จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของไทยที่จะดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศ แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนย้ายการลงทุนจากจีนมาไทยไม่มากนัก ซึ่งเกิดจากการปิดประเทศของจีนในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 และหลังจีนเปิดประเทศ พบว่ามีคณะนักลงทุนจีนเดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นและความถี่มากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของไทย

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ในการระดมสมอง ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากผู้ที่เข้าร่วมในการให้ข้อเสนอแนะที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ในหลายประเด็น เพื่อใช้รับมือกับผลกระทบและช่วงชิงโอกาสจากการแยกห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ 1.การศึกษาข้อมูลเชิงลึกเป็นรายรัฐ มณฑล ภูมิภาค เพื่อหาตลาดเป้าหมายที่จะส่งออก หรือดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในไทย เพื่อกำหนดนโยบายส่งเสริมให้เหมาะสม

2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ควรเร่งสร้างทักษะแรงงานให้พร้อมสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมขั้นสูง เช่น การออกแบบชิป และการผลิตชิป รวมทั้งควรเปิดกว้างให้แรงงานต่างชาติที่มีคุณภาพและเชี่ยวชาญเข้ามาทำงานได้โดยง่าย ทั้งนี้ ไทยยังมีข้อได้เปรียบด้านแรงงานในภูมิภาค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่แรงงานไทยมี safety mind และ quality mind สูง (จะเห็นได้จากการ recall รถยนต์ที่ใช้ฐานการผลิตในไทยมีอัตราที่ต่ำมาก) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ต้องคำนึงถึง

3.การลงทุน พบว่า หลายประเทศในอาเซียนได้เพิ่มแรงจูงใจสำหรับการลงทุนในประเทศมากขึ้น ทั้งมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีและมาตรการที่ไม่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์และแบตเตอรี่ และมาเลเซีย มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมการลงทุนของไทย ได้แก่ สนับสนุนเงินทุนในการวิจัยและพัฒนา เร่งส่งเสริมการลงทุนพัฒนาในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ การผลิตชิปในส่วนของ power electronics และปรับเงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับการเข้ามาลงทุนอย่างเหมาะสม รวมถึงสร้างเวทีระหว่างไทยกับบริษัทข้ามชาติชั้นนำของโลกประจำปี เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยสำคัญในการลงทุนหรือการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งควรใช้โอกาสในการดึงดูดการลงทุนที่จะย้ายออกจากจีนเนื่องจากต้องการรักษาตลาดที่เป็นชาติตะวันตก ให้เข้ามาลงทุนในไทย

4.การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เสนอให้มีการจัดประชุมระดมสมองระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ และมีหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบชัดเจน เพื่อออกนโยบายและมาตรการส่งเสริมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีการจัดตั้งสถาบันและหรือกองทุน ในการผลักดันการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องเร่งพัฒนาส่วนต้นน้ำให้อยู่ในไทย โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับ IoT ส่งเสริมการผลิตให้ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน

เตรียมความพร้อมทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ อาทิ AI , Robotic , Automation System และโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ เช่น ที่ดิน ไฟฟ้า ถนน ห้องปฏิบัติการทดสอบ ทดลอง การเชื่อมโยงการผลิตกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เนื่องจากไทยยังนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพื่อเข้ามาประกอบหรือใช้ในการผลิตเป็นส่วนใหญ่ และภาครัฐควรอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคให้กับภาคเอกชน

5.การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีข้อเสนอให้ภาคเอกชนเพิ่มการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ FTA กับคู่ค้า เพื่อเพิ่มแต้มต่อทางความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไปพัฒนาระบบขยายตลาดและบริการหลังการขายแบบครบวงจรในต่างประเทศ

ปัจจุบันโครงการศึกษานี้ อยู่ระหว่างการสรุปผลการศึกษา และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย หลังจากนั้นจะนำผลลัพธ์ที่ได้มาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็น ทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ นักวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะจัดงานสัมมนาใหญ่เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาให้ภาคเอกชนและผู้ที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้ภาครัฐขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป”นายพูนพงษ์กล่าว

 

Click Donate Support Web  

kasat 720x100CKPower 720x100MTL 720x100TU720x100sme 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100pxPF 720x100

 

TOA 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!