- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 24 May 2023 19:36
- Hits: 1403
ไทย-UAE เจรจา CEPA รอบแรก เดินหน้ายกร่างความตกลง ตั้งเป้าปิดดีลใน 6 เดือน
ไทย-UAE ประชุมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) รอบแรก เดินหน้ายกร่างความตกลงการค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร การค้าบริการและการค้าดิจิทัล ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความร่วมมือ MSMEs นัดครั้งต่อไปที่ไทย ก.ค.นี้ ลงลึกรายละเอียดต่อ ตั้งเป้าเจรจาให้จบภายใน 6 เดือน คาดเจรจาสำเร็จ ดันจีดีพีและส่งออกไทยเพิ่มกระฉูด
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16–18 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา ได้นำคณะผู้แทนไทยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการค้าต่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมศุลกากร และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เข้าร่วมการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement : CEPA) ระหว่างไทย–สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) รอบแรก ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อหารือการเจรจาจัดทำความตกลง CEPA หลังจากที่ทั้ง 2 ประเทศ ได้ประกาศเริ่มต้นการเจรจาเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2566 และตั้งเป้าที่จะเจรจาให้สำเร็จภายใน 6 เดือน
สำหรับ การประชุมครั้งนี้ คณะทำงาน 9 คณะของทั้ง 2 ฝ่าย ได้เริ่มหารือยกร่างข้อบทความตกลง CEPA ซึ่งประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ได้แก่ การค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า การค้าบริการและการค้าดิจิทัล ทรัพย์สินทางปัญญา ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) และจากนั้นไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม CEPA รอบที่ 2 ในเดือนก.ค.2566 ที่กรุงเทพฯ เพื่อลงลึกในรายละเอียดต่าง ๆ ต่อไป
“จากการศึกษาเบื้องต้น พบว่า การจัดทำ CEPA ระหว่างไทย–UAE จะส่งผลให้จีดีพีของไทยเพิ่มขึ้นถึง 318–357 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10,867–12,201 ล้านบาท และการส่งออกของไทยในภาพรวมจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 190–243 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,494–8,305 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการจัดทำ CEPA ระหว่างกัน โดยสินค้าที่คาดว่าไทยจะส่งออกได้มากขึ้น เช่น สินค้าอาหาร สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังสัตว์ ไม้ ยาง พลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เเละยานยนต์และชิ้นส่วน”นางอรมนกล่าว
ทั้งนี้ UAE เป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลาง ในปี 2565 การค้าระหว่างไทย–UAE มีมูลค่า 20,824.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 73.9% โดยไทยส่งออกไป UAE มูลค่า 3,420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจาก UAE มูลค่า 17,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เเละเครื่องเพชรพลอย
ส่วนไตรมาสแรกของปี 2566 (ม.ค.–มี.ค.) การค้าระหว่างไทย–UAE มีมูลค่า 4,690 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 6.6% โดยไทยส่งออกไป UAE มูลค่า 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจาก UAE มูลค่า 3,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ