- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 24 May 2023 18:58
- Hits: 1219
สนค.เผยดัชนีราคาผู้ผลิตไทย เดือนมี.ค.66 ต่ำอันดับ 16 โลก คาดส่งผลดี ต้นทุนผลิตลด
สนค. เผย trading economics รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน มี.ค.66 ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก พบ 21 ประเทศ ดัชนีปรับลดลง รวมทั้งไทย ที่ลดต่ำเป็นอันดับที่ 16 ของโลก เหตุราคสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลง อุปสงค์โลกชะลอตัว ปัญหาอุปทานไม่เพียงพอหมดไป สะท้อนต้นทุนการผลิตลดลง และจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคในระยะต่อไป คาดแนวโน้มยังเป็นขาลง
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า trading economics ได้รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index : PPI) ของเดือนมี.ค.2566 ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก พบว่า 21 ประเทศ จาก 78 เขตเศรษฐกิจ รวมทั้งไทย ดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ 59 เขตเศรษฐกิจ ขยายตัวต่ำกว่า 10%
ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับตัวลดลงจากที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับอุปสงค์ของโลกที่ชะลอตัวลง และปัญหาอุปทานไม่เพียงพอ มีแนวโน้มคลี่คลายลงจากปีก่อนหน้านี้ และอัตราการเปลี่ยนแปลงชะลอตัวลงกระจายในหลายกลุ่มสินค้า สะท้อนให้เห็นว่าทิศทางการชะลอตัวของดัชนียังคงมีต่อเนื่อง และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตและผู้ประกอบการสู่ผู้บริโภคจะลดลงในระยะถัดไป
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน มี.ค.2566 ของไทย ลดลง 1.7% โดยขยายตัวต่ำเป็นอันดับที่ 16 จาก 78 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งต่ำกว่าหลายเขตเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ไต้หวัน อินเดีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร เป็นต้น และต่ำกว่าประเทศในอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ส่วนประเทศที่ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงต่ำกว่าไทย เช่น สิงคโปร์ รัสเซีย มาเลเซีย และจีน เป็นต้น
สำหรับ แนวโน้มของเขตเศรษฐกิจสำคัญ พบว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตก็ต่ำสุดในรอบหลายเดือน และการชะลอตัวของดัชนีกระจายในหลายกลุ่มสินค้า เช่น จีน ลด 2.5% ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน โดยหลายหมวดสินค้าที่หดตัว ได้แก่ เหมืองแร่ วัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมแปรรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคที่คงทน สำหรับสินหมวดอาหาร และเครื่องนุ่งห่ม เพิ่มเพียง 2% สหรัฐฯ เพิ่ม 2.7% ต่ำสุดในรอบ 26 เดือน จากการชะลอตัวทั้งในหมวดสินค้าอาหาร บริการ ค้าปลีก
และการบริหารคลังสินค้าและการจัดเก็บ หากไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่ม 3.6% ใกล้เคียงกับดัชนีในภาพรวม สหภาพยุโรป เพิ่ม 5.9% ต่ำสุดในรอบ 24 เดือน โดยหมวดสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภคที่คงทน ชะลอต่ำกว่า 10% ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่คงทน ลดลงอยู่ที่ 13.4% และญี่ปุ่น เพิ่ม 7.2% ต่ำสุดในรอบ 18 เดือน โดยหมวดปิโตรเลียมและถ่านหินไม้และไม้แปรรูปหดตัว ขณะที่หมวดเคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์ยานยนต์ ชะลอตัว แต่หมวดอาหาร เหล็ก พลาสติก และเครื่องจักรยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตของไทย เดือนเม.ย.2566 อยู่ที่ระดับ 110.1 ลดลง 3.4% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากการลดลงของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลด 3.2% เช่น ผลิตภัณฑ์กลั่นปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และโลหะขั้นมูลฐาน แต่ผลิตภัณฑ์อาหาร (น้ำตาลทราย ข้าวสารเจ้า มันเส้น เนื้อสุกร ไก่สด และปลาทูน่ากระป๋อง) สูงขึ้น และกลุ่มเครื่องดื่มและกลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ทองคำ ทรงตัว
หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลด 10.5% จากการหดตัวของก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และสินแร่โลหะ (สังกะสี ดีบุก เหล็ก และวุลแฟรม) และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลด 2.5% จากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรสำคัญ ได้แก่ ผลปาล์มสด มะพร้าวผล ยางพารา และผลไม้ (ทุเรียน กล้วยหอม) แต่ข้าวเปลือกเจ้า อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ ไข่เป็ด และผลิตภัณฑ์จากการประมง เพิ่มสูงขึ้น
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิตในช่วงที่เหลือของปี 2566 มีทิศทางลดลง โดยหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองและหมวดอุตสาหกรรม มีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามราคาพลังงานที่ต่ำกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก รวมทั้งอุปสงค์โลกที่ลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าสำคัญ ประกอบกับฐานราคาปี 2565 อยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัว
สำหรับ หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ในช่วงไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มหดตัว เนื่องจากฐานที่สูงของปีก่อนหน้า ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวจากฐานที่ต่ำ
อย่างไรก็ตาม ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรและประมง ต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแรง และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น อุปสงค์ภายในประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว และผลการเลือกตั้ง อาจส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการ ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ
ดังนั้น ผู้ประกอบการควรติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถใช้ความได้เปรียบด้านวัตถุดิบที่มีราคาถูกสำหรับเร่งการส่งออก รวมทั้งเฝ้าระวังความเสี่ยงเพื่อการบริหารต้นทุนและการปรับราคาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ