- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 19 May 2023 10:06
- Hits: 1315
กรมเจรจาฯ นำคณะผู้แทนไทย ถกทำ FTA ไทย-ยูเออี รอบแรก ที่ดูไบ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นำคณะผู้แทนไทยเจรจา FTA ไทย–ยูเออี รอบแรก 16–18 พ.ค.นี้ ที่ดูไบ หลังประกาศเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ เผยคณะกรรมการเจรจาการค้า และคณะทำงานกลุ่มย่อย 9 คณะ จะร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น และวางแผนงานการเจรจาแต่ละรอบ พร้อมเริ่มหารือข้อบทความตกลงทันที ตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาโดยเร็วที่สุด
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมมีกำหนดจะนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement : CEPA) ไทย–ยูเออี ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 16–18 พ.ค.2566 ณ เมืองดูไบ หลังจากที่ไทยได้ประกาศเปิดการเจรจา FTA หรือที่เรียกว่า CEPA กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา และไทย-ยูเออีได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันที่จะสรุปผลการเจรจา CEPA ไทย–ยูเออี ให้ได้โดยเร็วที่สุด
สำหรับ การประชุมเจรจาจัดทำ CEPA ไทย–ยูเออี ครั้งที่ 1 สองฝ่ายจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นและวางแผนงานสำหรับการเจรจาในแต่ละรอบ รวมทั้งจะเริ่มหารือข้อบทความตกลง โดยในการเจรจารอบแรกจะมีทั้งการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (Trade Negotiation Committee) เพื่อกำกับดูแลและติดตามการเจรจาในภาพรวม และการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อย จำนวน 9 คณะ
ได้แก่ 1.การค้าสินค้า 2.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4.มาตรการเยียวยาทางการค้า 5.ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และ MSMEs 6.กฎหมายและสถาบัน 7.ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 8.ทรัพย์สินทางปัญญา และ 9.การค้าบริการ และการค้าดิจิทัล
ทั้งนี้ ยูเออีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลาง โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับยูเออี มีมูลค่า 20,824.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 73.9% โดยไทยส่งออกไปยูเออี มูลค่า 3,420.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากยูเออี มูลค่า 17,404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญจากยูเออี เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เป็นต้น
สำหรับ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 (ม.ค.–มี.ค.) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 4,697.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.6% โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 856.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้ามูลค่า 3,840.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ