- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 05 May 2023 13:28
- Hits: 2957
ไทยแชมป์ส่งออกผลไม้จีน มีส่วนแบ่งตลาด 41.3% ทุเรียน-ลำไย-มังคุด ยึดเกือบเต็ม 100%
สนค.วิเคราะห์ตลาดผลไม้จีน พบไทยครองแชมป์ มีส่วนแบ่งตลาดในภาพรวม 41.3% หากแยกเป็นรายตัว ทุเรียนครองส่วนแบ่งตลาด 95.3% ลำไย 99.3% มังคุด 86.8% มะพร้าว 69.2% น้อยหน่า 100% ชมพู่ 100% เงาะ 82.4% แนะผู้ประกอบการเข้มคุณภาพ มาตรฐาน ให้ดีกว่าคู่แข่ง และกระจายส่งออกไปยังตลาดอื่นเพิ่ม รวมถึงเจาะจีนเป็นรายมณฑล
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการวิเคราะห์ความท้าทายและโอกาสของการส่งออกผลไม้ไปจีน พบว่า ปัจจุบันไทยเป็นแหล่งนำเข้าผลไม้อันดับหนึ่งของจีน โดยในปี 2565 ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดผลไม้ในจีน ร้อยละ 41.3 รองลงมาเป็นชิลี มีสัดส่วนร้อยละ 24.4
และทั้งสองประเทศรวมกัน มีส่วนแบ่งในตลาดผลไม้นำเข้าของจีนถึงร้อยละ 65.7 แต่ผลจากตลาดตลาดผลไม้ในจีนที่เติบโตสูง ทำให้มีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น คู่แข่งสำคัญ เช่น เวียดนาม ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 9.3 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 4.9 นิวซีแลนด์ ร้อยละ 4.6 เปรู ร้อยละ 4.2 แอฟริกาใต้ ร้อยละ 1.9 กัมพูชา ร้อยละ 1.8 ออสเตรเลีย ร้อยละ 1.6 และอินโดนีเซีย ร้อยละ 1.4
ทั้งนี้ ยังพบว่า หลายประเทศมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงมาก แต่มูลค่าในตลาดยังน้อย ซึ่งสะท้อนในเห็นถึงความต้องการที่เริ่มมีในตลาด เช่น เมียนมา ขยายตัวร้อยละ 583.8 สเปน ร้อยละ 105.6 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร้อยละ 169.3 บราซิล ร้อยละ 415.8 คอสตาริก้า ร้อยละ 470.9 เป็นต้น
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันผลไม้ที่สำนักงานศุลกากรจีน (GACC) อนุญาตให้นำเข้าจากไทย มี 22 ชนิด ได้แก่ มะขาม น้อยหน่า มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง เงาะ ลองกอง ละมุด เสาวรส ส้มเปลือกล่อน ส้ม ส้มโอ สับปะรด กล้วย มะพร้าว ขนุน ลำไย ทุเรียน มะม่วง ลิ้นจี่ มังคุด และชมพู่
โดยผลไม้สดที่ไทยครองตลาดในจีน ได้แก่ ทุเรียน ส่วนแบ่งการตลาด ร้อยละ 95.3 ลำไย ร้อยละ 99.3 มังคุด ร้อยละ 86.8 มะพร้าว ร้อยละ 69.2 น้อยหน่า ร้อยละ 100 ชมพู่ ร้อยละ 100 และ เงาะ ร้อยละ 82.4 เนื่องจากไทยสามารถผลิตได้ในปริมาณมากและมีคุณภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
สำหรับ สินค้าที่จีนต้องการนำเข้า แต่ไทยไม่สามารถเพาะปลูกให้เกิดความได้เปรียบได้ เช่น เชอรี่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ องุ่น แก้วมังกร กีวี แอปเปิล อะโวคาโด พีช สตอเบอร์รี่ พรุน และสาลี่ เป็นต้น โดยผลไม้เหล่านี้มีสัดส่วนร้อยละ 40.7 ของตลาดผลไม้ในจีน แต่หากไทยมีการพัฒนาศักยภาพการผลิตในบางสินค้าและผลักดันให้เป็นสินค้าส่งออกเชิงพาณิชย์ได้ ก็จะเป็นโอกาสทางการค้าได้ในอนาคต
นอกจากนี้ จากการแข่งขันที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องรักษามาตรฐานด้านสุขอนามัย ความปลอดภัย และคุณภาพของผลไม้ เป็นสิ่งที่ไทยต้องทำต่อเนื่อง และยกระดับให้ดีขึ้นกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ และควรผลักดันนโยบายการกระจายตลาดลดความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดเดียว โดยกระจายตลาดส่งออกผลไม้ไปยังตลาดใหม่ ๆ ที่มีกำลังซื้อเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด
โดยเฉพาะตลาดที่มีการนำเข้าผลไม้จากโลกในสัดส่วนที่สูง และไทยยังมีส่วนแบ่งในตลาดนั้นไม่มาก เช่น สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร แคนาดา ญี่ปุ่น ฮ่องกง เบลเยี่ยม อิตาลี โปแลนด์ สเปน และเกาหลีใต้ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ควรขยายตลาดลงสู่ระดับมณฑลของจีนให้มากขึ้น ตามการพัฒนาความเป็นเมืองในมณฑลต่าง ๆ ของจีนที่ขยายตัวขึ้น ส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงคุณภาพชีวิตของชาวชนบทในจีนดีขึ้น
โดยเฉพาะในมณฑลที่มีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้ทันสมัย จะช่วยหนุนให้การส่งออกผลไม้เข้าสู่ภายในตัวเมืองชั้นในของจีนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกผลไม้ไปจีนเพิ่มขึ้นในระดับมณฑล โดยเฉพาะประชากรในภาคตะวันตกและภาคกลางของจีนที่ยังมีพัฒนาการความเป็นเมืองน้อยกว่าภาคตะวันออกและใต้
A5201