- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 04 May 2023 14:50
- Hits: 1563
พาณิชย์ ตั้งคณะทำงานศึกษาเชิงลึก แก้พ.ร.บ.ตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน
กรมการค้าต่างประเทศชงผลการประเมินการบังคับใช้ และข้อเสนอแนะการแก้ไข พ.ร.บ.ตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว หลังผลการรับฟังความเห็น กลุ่มเห็นด้วย ต้องการปรับแก้ให้เข้มขึ้น ส่วนกลุ่มไม่เห็นด้วย เห็นว่าช่วยปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศมากไป ผู้บริโภคกระทบ เตรียมตั้งคณะทำงานศึกษาเชิงลึกต่อ ก่อนสรุปจะแก้ไขหรือไม่
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ ได้จัดทำข้อเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นการทบทวน พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562 ตามที่พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้กฎหมายที่บังคับใช้ทุกกรอบระยะเวลา 5 ปี ให้หน่วยงานที่ดูแลกฎหมายประเมินผลสัมฤทธิ์
ซึ่งกรมฯ ได้มีการประเมินผลจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นและได้นำเสนอผลสรุป และข้อเสนอแนะต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และจากนี้จะนำรายงานดังกล่าวเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมฯ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาศึกษา
สำหรับ ผลการเปิดรับฟังความคิดเห็น ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ และมีข้อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงในบางประเด็น โดยกลุ่มที่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมาย เห็นว่า จะต้องมีการกำหนดนิยามสินค้าชนิดเดียวกันให้ครอบคลุมถึงสินค้าที่ทดแทนกันได้ เพราะบางกรณี มีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) กับสินค้าบางชนิดแล้ว
แต่ก็มีสินค้าที่ใกล้เคียงกัน ใช้ทดแทนกันได้ ทำให้มีการเลี่ยงไปนำเข้าสินค้าที่ไม่ถูกใช้เอดีแทน และควรปรับหลักเกณฑ์ กระบวนการดำเนินงานภายใต้กฎหมาย ไม่ให้เกิดภาระจนเกินจำเป็น และไม่ให้นำเกณฑ์ขั้นต่ำที่นำไปสู่การยกเว้นการใช้มาตรการ มาบังคับใช้โดยอนุโลมในกรณีการทบทวนอัตราอากร และการทบความความจำเป็นที่จะบังคับใช้มาตรการต่อ
ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการมีกฎหมายฉบับนี้ เห็นว่า สินค้าที่นำเข้ามามีคุณภาพ และมีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ ไม่ควรใช้มาตรการเอดี เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมภายในประเทศเกิดการผูกขาด แต่ควรส่งเสริมให้มีการค้าเสรี เพราะเป็นประโยชน์ในการลดต้นทุนในการผลิต และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ที่จะบริโภคสินค้าได้ราคาถูกลง
อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานกฎหมาย เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำการปรับปรุงกฎหมาย และทำการศึกษา วิเคราะห์ผลดี ผลเสีย ต่อส่วนรวม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าก่อน และจากนั้นจะรายงานสรุปประเด็นที่ควรแก้ไขให้กระทรวงพาณิชย์เห็นชอบ และจะทำการยกร่างแก้ไขกฎหมาย และเข้าสู่กระบวนการแก้ไขกฎหมายต่อไป
ก่อนหน้านี้ กรมฯ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียใน 2 ช่องทาง คือ ระบบเว็บกลางทางกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหนังสือถึงกรมฯ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมการค้าภายใน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย