- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 01 May 2023 16:58
- Hits: 1782
สุเมธ กางแผนขับเคลื่อนงานครึ่งปีหลัง 66 ดันเพิ่ม GIT Standard หนุนธุรกิจลุย BCG
สุเมธ กางแผนทำงานครึ่งปีหลัง 66 ลุยผลักดัน GIT Standard ยกระดับห้องปฏิบัติการของไทย ในการทำธุรกิจ การตรวจสอบอัญมณี และโหละมีค่า เผยล่าสุดทำมาตรฐานแล้ว 22 ขอบข่าย เตรียมเพิ่มอีก 3 ขอบข่ายปีนี้ กำหนดหลักเกณฑ์ตรวจมรกตและมุก การวิเคราะห์ปริมาณเงิน และมาตรฐานการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล พร้อมลุยขับเคลื่อน BCG ดันผู้ประกอบการใหความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ก่อนร่วมจัดงานแฟร์ใหญ่ 2 งานช่วงปลายปี
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยถึงแผนการทำงานในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ว่า GIT จะเดินหน้าจัดทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า หรือ GIT Standard ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล
โดยปัจจุบัน ได้มีการจัดทำมาตรฐานแล้ว 22 ขอบข่าย เช่น มาตรฐานห้องปฏิบัติการ มาตรฐานการตรวจสอบอัญมณี เพชร หยก และจะเพิ่มมาตรฐานใหม่อีก 3 ขอบข่าย คือ มาตรฐานวิธีวิเคราะห์และทดสอบมรกตและมุก , การวิเคราะห์หาปริมาณเงินในตัวอย่างโลหะมีค่าโดยใช้เทคนิคเอ็กซ์เรย์ฟลูออเรสเซนซ์ (XRF) และมาตรฐานใหม่ด้านการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เช่น การแจ้งที่มาที่ไปของวัตถุดิบ การไม่เอาเปรียบแรงงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่ผ่านเกณฑ์ขึ้นทะเบียนมาตรฐาน GIT Standard แล้วจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ห้องปฏิบัติการอัญมณี คณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา , ห้องปฏิบัติการ บริษัท เอ็มทีเอส รีไฟเนอรี่ แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด , ห้องปฏิบัติการ บริษัท พรีเชียส พลัส จำกัด , ห้องปฏิบัติการ บริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด และห้องปฏิบัติการ บริษัท จีซีไอ แล็บ จำกัด
ซึ่ง GIT จะผลักดันให้ห้องปฏิบัติการและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ มีการผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GIT Standard เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย
นายสุเมธ กล่าวว่า GIT ยังมีแผนที่จะผลักดัน BCG Model ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยจะผลักดันให้ผู้ประกอบการเห็นถึงความสำคัญของ BCG ในการผลิตเครื่องประดับ เพราะเป็นเทรนด์ของโลก หากทำได้ ก็จะช่วยให้สินค้าเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา GIT ได้เริ่มกับการประกวดออกแบบเครื่องประดับ โดยในปี 2565 ใช้หัวข้อ True Nature ที่กระตุ้นให้นักออกแบบเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและเลือกวัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
และปี 2566 ก็ยังคงคอนเซ็ปต์เดิม แต่เน้นความเป็นสีทอง และพลอยเนื้ออ่อน แต่ยังคงให้ความสำคัญกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการช่วยพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น ที่ปีนี้ได้ทำโครงการพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์เครื่องประดับภาคใต้เพื่อการท่องเที่ยว (เสน่ห์ใต้) ที่ได้เน้นการนำวัสดุพื้นถิ่น หรือการนำวัสดุที่เหลือใช้มา Upcycle กลายเป็นเครื่องประดับที่ทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของโลก จนปัจจุบันเกิดเป็นชิ้นงานใหม่ ๆ ที่น่าสนใจออกมาแล้ว
นอกจากนี้ จะผลักดันให้ผู้ประกอบการมีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ ซึ่งปัจจุบัน GIT ได้เป็นสมาชิกของ Responsible Jewellery Council หรือ RJC ซึ่งเป็นองค์กรที่สร้างมาตรฐานการการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และล่าสุดได้ลงนาม MOU กับสมาคมผู้ส่งออกเครื่องเงินไทย เห็นความสำคัญของการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแล้ว
สำหรับ งานแสดงสินค้า GIT จะร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดงานบางกอก เจมส์ ครั้งที่ 68 วันที่ 6-10 ก.ย.2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และการจัดงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2023 วันที่ 7-11 ธ.ค.2566 ณ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี เคพี จิวเวลรี่เซ็นเตอร์ และตลาดพลอย ถ.ศรีจันทร์ จ.จันทบุรี ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4