- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 29 April 2023 12:58
- Hits: 1499
กรมเจรจาฯ แนะใช้ FTA ส่งออกเครื่องปรับอากาศ ขายคู่ค้า 16 ชาติ หลังเลิกเก็บภาษีไทยแล้ว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามสถิติส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน พบไทยขึ้นแท่นผู้ส่งออกเบอร์ 2 ของโลก รองจากจีน แนะใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออก เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มขีดแข่งขันให้กับสินค้า หลังคู่ค้า 16 ประเทศ ลดภาษีนำเข้าให้กับไทยแล้ว เหลือแค่จีนกับอินเดีย ที่ยังเก็บบางรายการ ยันจะเดินหน้าเจรจาให้คู่ค้าเปิดตลาดและลดภาษีให้ไทยต่อไป
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่า เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย และมีมูลค่าการส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศจำนวนมาก และปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน อันดับ 2 ของโลก รองจากจีน
โดยในปี 2565 ไทยส่งออกไปตลาดโลก มูลค่า 7,044 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% และในช่วง 2 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.พ.) ไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนไปตลาดโลกแล้วมูลค่า 1,423 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 11%
โดยเครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือติดผนัง มีสัดส่วนถึง 68% ของการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนทั้งหมด และมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อาเซียน ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบประเทศคู่เจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทย พบว่า ปัจจุบันคู่ค้า FTA จำนวน 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนจากไทยแล้ว เหลือเพียง 2 ประเทศ ได้แก่ จีนและอินเดีย ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ โดยจีน เก็บภาษีเครื่องปรับอากาศในยานยนต์ อัตรา 5% และอินเดีย เก็บภาษีเครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือผนัง และเครื่องปรับอากาศในยานยนต์ อัตรา 5%
“ในการส่งออก ขอให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยมีกับคู่ค้า 18 ประเทศ เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าของไทย ส่วนกรมจะเดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนเพิ่มเติมให้ไทย ภายใต้การเจรจา FTA กรอบต่าง ๆ ทั้งการทบทวนความตกลง FTA ที่มีอยู่แล้ว และที่อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบทางด้านภาษี และช่วยขยายส่วนแบ่งตลาดให้กับสินค้าไทยในตลาดโลกเพิ่มขึ้นต่อไป”นางอรมนกล่าว
สำหรับ ข้อแนะนำต่อผู้ประกอบการ ควรพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ทันสมัย คำนึงถึงความต้องการของตลาด มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน เช่น การใช้เทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์ (Inverter) เพื่อประหยัดพลังงาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือการควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่