- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 29 April 2023 12:39
- Hits: 1629
ส่งออก มี.ค. ดีเกินคาด ลดแค่ 4.2% มูลค่าสูงสุด 12 เดือน และทำสถิติมากสุดอันดับ 2
ส่งออกมี.ค.66 ทำได้มูลค่า 27,654.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 4.2% ลบน้อยกว่าที่ทุกสำนักประเมินไว้ มูลค่าสูงสุดรอบ 12 เดือน และทำสถิติสูงสุดเป็นอันดับ 2 ตั้งแต่มีการส่งออก แต่ภาพรวมยังติดลบ 6 เดือนติดต่อกัน เผยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรฟื้นตัวต่อเนื่อง เพิ่ม 4.2%
แต่อุตสาหกรรมยังลบ 5.9% ส่วนไตรมาสแรก ลบ 4.5% คาดไตรมาส 2 ลบน้อยลง และดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งปียังมั่นใจทำได้ 1-2% “ปลัดพาณิชย์” นัดถก กรอ.พาณิชย์ 23 พ.ค. ทำแผนขับเคลื่อนส่งออกระยะที่ 2
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนมี.ค.2566 มีมูลค่า 27,654.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.2% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 942,939 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 24,935.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.1% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 860,535 ล้านบาท เกินดุลการค้า มูลค่า 2,718.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 82,403 ล้านบาท
รวม 3 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 70,280.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 4.5% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 2,373,189 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 73,324.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 0.5% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 2,508,390 ล้านบาท ขาดดุลการค้า มูลค่า 3,044.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 135,201 ล้านบาท
โดยการส่งออกที่ลดลง มาจากการลดลงของสินค้าอุตสาหกรรม 5.9% ลดต่อเนื่อง 6 เดือนติด โดยสินค้าที่หดตัว เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลด 14.2% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ลด 6% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ลด 13.7% อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ลด 3.5% แต่รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เพิ่ม 1.4% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เพิ่ม 16.7% อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เพิ่ม 66.4% เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 27.4% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่ม 5% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 55.9%
ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่มขึ้น 4.2% เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 1.2% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 7.1% สินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น น้ำตาลทราย เพิ่ม 73.9% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 5.7% ข้าว เพิ่ม 7.2% ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เพิ่ม 94.5% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เพิ่ม 6.2% เครื่องดื่ม เพิ่ม 13.2% ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง เพิ่ม 47.9% ส่วนยางพารา ลด 41.1% อาหารสัตว์เลี้ยง ลด 25% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ลด 17.8%
สำหรับ การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ดีขึ้น และหดตัวน้อยลง โดยตลาดหลัก ลด 0.8% เช่น จีน ลด 3.9% CLMV ลด 3.5% อาเซียน 5 ประเทศ ลด 2.1% สหภาพยุโรป ลด 7.3% แต่สหรัฐฯ เพิ่ม 1.7% ญี่ปุ่น เพิ่ม 10.2% ตลาดรอง ลด 3.4% เช่น เอเชียใต้ ลด 6.9% ทวีปออสเตรเลีย ลด 23.3% แต่รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 228% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 3% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 5.9% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 5.8% และตลาดอื่น ๆ ลด 39.5% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ลด 43.5%
ทางด้านการค้าชายแดนและผ่านแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในตัวเลขการส่งออกรวม เดือนมี.ค.2566 การค้ารวมมีมูลค่า 163,714 ล้านบาท เพิ่ม 9.57% แยกเป็นการส่งออก มูลค่า 95,992 ล้านบาท เพิ่ม 13.93% และนำเข้า มูลค่า 67,722 ล้านบาท เพิ่ม 3.94% โดยส่งออกชายแดน ไปสปป.ลาว และเมียนมา เพิ่มขึ้น แต่ส่งออกไปมาเลเซียและกัมพูชาลดลง และการส่งออกผ่านแดนไปจีน สิงคโปร์และเวียดนาม เพิ่มขึ้นทุกตลาด
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะนัดหารือกับภาคเอกชนในเวที กรอ.พาณิชย์ วันที่ 23 พ.ค.2566 โดยจะประชุมร่วมกับทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ทั่วโลก และมาร่วมกันจัดทำแผนการขับเคลื่อนการส่งออกระยะที่ 2 อย่างละเอียดว่าจะเดินหน้าแบบไหน อย่างไร เพื่อผลักดันตัวเลขการส่งออก หลังจากที่แผนระยะที่ 1 ที่ตั้งเป้าผลักดันการส่งออกไปกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และ CLMV ได้ขับเคลื่อนจนเป็นผลสำเร็จ และทำให้ตัวเลขการส่งออกดีขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค.2566 ที่ทำได้ 27,654.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าทำได้ดีกว่าที่ทุกสำนักประเมินเอาไว้ โดยส่วนใหญ่คาดว่าจะติดลบเป็นตัวเลข 2 หลัก แต่ผลออกมาติดลบแค่ 4.2% และยังลบน้อยกว่าประเทศส่งออกอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ลด 7.5% เกาหลีใต้ ลด 13.6% สิงคโปร์ ลด 5.2% อินเดีย ลด 13.9% ไต้หวัน ลด 19.1% เวียดนาม ลด 14.4% และมาเลเซีย ลด 7.3% เป็นต้น
ส่วนมูลค่าก็เป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 12 เดือน แต่ถ้านับตั้งแต่มีการส่งออก เป็นตัวเลขที่ทำสถิติส่งออกสูงสุดเป็นลำดับที่ 2 รองจากตัวเลขเดือนมี.ค.2565 ที่ทำได้ 28,858 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกไตรมาส 2 การส่งออกจะยังติดลบ แต่เริ่มลดลง และจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป โดยตัวเลขทั้งปี ประเมินว่าจะทำได้ตามเป้า 1-2% ซึ่งเป็นตัวเลขสำหรับทำงาน ทั้งเชิงรุกและเชิงลึก โดยแต่ละเดือนจะต้องส่งออกได้ประมาณ 24,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การส่งออกเดือนมี.ค.2566 ที่ลดลง 4.2% เป็นการส่งออกติดลบต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 ที่ลดลง 4.4% พ.ย.2565 ลด 6% ธ.ค.2565 ลด 14.6% ม.ค.2566 ลด 4.5% ก.พ.2566 ลด 4.7%