- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 22 April 2023 19:51
- Hits: 2025
คต.โชว์ยอดส่งออกข้าว-มันสำปะหลัง ไตรมาสแรกพุ่ง พร้อมเร่งขับเคลื่อนการค้าชายแดน ผลักดันการค้าไทยอย่างต่อเนื่อง
กรมการค้าต่างประเทศเผยยอดส่งออกข้าว 3 เดือนแรกปี 66 ทะลุ 2,063,927 ตัน มูลค่ากว่า 38,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.26% อิรักครองแชมป์นำเข้าข้าวไทยสูงถึง 16.38% ในส่วนมันสำปะหลังปริมาณส่งออก 3,290,000 ตัน สร้างมูลค่ากว่า 39,982.93 ล้านบาท โตเพิ่มขึ้น 4.81% พร้อมชูแผนขับเคลื่อนการค้าชายแดน เดินหน้าจัดมหกรรมการค้าชายแดน 3 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว หนองคาย และนราธิวาส ระหว่างเดือน มิ.ย. – ส.ค. 66
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกสินค้าข้าวและมันสำปะหลังในไตรมาสแรกของปี 2566 (มกราคม – มีนาคม) ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าข้าว มีมูลค่า 38,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29.26% (8,616 ล้านบาท) มีปริมาณ 2,063,927 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.48% (321,625 ตัน)
โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อิรัก คิดเป็น 16.38% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมาได้แก่ อินโดนีเซีย (13.08%) สหรัฐอเมริกา (8.62%) แอฟริกาใต้ (8.24%) และเซเนกัล (5.86%) ตามลำดับ
ทั้งนี้ ยอดการส่งออกข้าวไทยที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา อาทิ อินโดนีเซีย บังกลาเทศ อิรัก แอฟริกาใต้ และเซเนกัล ยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อความต้องการข้าวในประเทศและรักษาความมั่นคงทางอาหาร ประกอบกับในปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตข้าวไทยจะเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก โดยผลผลิตข้าวนาปรังจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ทำให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้
ในส่วนการส่งออกสินค้ามันสำปะหลัง 3 เดือนแรก(มกราคม-มีนาคม) มีมูลค่า 39,982.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.81% (1,834.15 ล้านบาท) มีปริมาณ 3,290,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.17% (220,000 ตัน) โดยสินค้าส่งออกสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) มันเส้น/มันอัดเม็ด ปริมาณการส่งออกคิดเป็น 53.06% (1,745,674 ตัน) ของปริมาณการส่งออกมันสำปะหลังทั้งหมด ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน (98.64%) เนเธอร์แลนด์ (0.86%) มาเก๊า (0.36%) และญี่ปุ่น (0.08%) (2) แป้งมันสำปะหลัง ปริมาณการส่งออกคิดเป็น 43.82% (1,441,678 ตัน) ของปริมาณการส่งออกมันสำปะหลังทั้งหมด
ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน (47.20%) ญี่ปุ่น (11.28%) อินโดนีเซีย (8.06%) มาเลเซีย (4.81%) สหรัฐอเมริกา (4.18%) และเกาหลีใต้ (3.38%) และ (3) กากมัน/สาคู ปริมาณการส่งออกคิดเป็น 3.12% (102,648 ตัน) ของปริมาณการส่งออกมันสำปะหลังทั้งหมด ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เกาหลีใต้ (36.43%) จีน (21.39%) นิวซีแลนด์ (18.32%) และบังกลาเทศ (2.47%)
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการผลักดันมูลค่าการค้าของไทยอย่างต่อเนื่อง กรมฯ ยังมีแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนและสนับสนุนการค้าชายแดน-ผ่านแดนในปี 2566 โดยดำเนินการตามที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ภายใต้แผนบูรณาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
โครงการขยายการค้าการลงทุนชายแดนและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ให้มีการค้าการลงทุนชายแดนและประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดตามแนวชายแดนและพื้นที่ใกล้เคียง
ตลอดจนสร้างและขยายเครือข่ายการค้าระหว่างผู้ประกอบการไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และเพิ่มช่องทางการค้าและโอกาสทางการตลาดสินค้าและบริการของไทยในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน โดยการจัดมหกรรมการค้าชายแดนโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
รวม 3 โครงการ คือ (1) มหกรรมการค้าชายแดน ณ จังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ด้านเมียนมา/ด้านกัมพูชา (จังหวัดกาญจนบุรี หรือสระแก้ว หรือตราด) โดยมีแผนจัดที่จังหวัดสระแก้ว ในช่วงเดือนมิถุนายน 2566 (2) มหกรรมการค้าชายแดน ณ จังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ด้านลาว (จังหวัดเชียงราย หรือตาก หรือหนองคาย หรือมุกดาหาร หรือนครพนม)
โดยมีแผนจัดที่จังหวัดหนองคาย ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 และ (3) มหกรรมการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยมีแผนจัดที่จังหวัดนราธิวาส ในช่วงเดือนสิงหาคม 2566
ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า (Trade Fair) โดยเป็นงานแสดงและจำหน่ายสินค้าและบริการของผู้ประกอบการในภูมิภาคและส่วนกลางที่สนใจ อาทิ สินค้าจากผู้ประกอบการ OTOP/SMEs สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเเฟรนไชส์ และสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน การฝึกอบรม/สัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการประกอบธุรกิจ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพด้านการค้าต่างประเทศ กฎระเบียบ สิทธิประโยชน์ การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ามาตรการทางการค้า และการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสนับสนุนการค้าชายแดนในปีนี้คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยมีองค์ความรู้ในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและขยายตลาด รวมถึงสามารถสร้างและขยายเครือข่ายการค้าระหว่างผู้ประกอบการไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะกระตุ้นการค้าการลงทุนชายแดนเพิ่มขึ้น รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดตามแนวชายแดนและพื้นที่ใกล้เคียง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1385 หรือเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th