- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 22 April 2023 19:38
- Hits: 2022
DBD ไตรมาสแรกปี 66 ต่างชาติลงทุนไทย 174 ราย นำเงินเข้า 33,048 ล้าน จ้างงาน 1,932 คน
พาณิชย์ เผยต่างชาติลงทุนไทยไตรมาสแรก 174 ราย เพิ่มขึ้น 19% นำเงินเข้า 33,048 ล้านบาท เพิ่ม 25% จ้างงานคนไทย 1,932 คน เพิ่ม 15% ญี่ปุ่นแชมป์ลงทุนสูงสุด ตามด้วยสิงคโปร์ สหรัฐฯ จีน และสวิส ระบุธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ส่วนใหญ่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นความรู้เฉพาะด้านให้อีกเพียบ
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ช่วง 3 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 174 ราย เพิ่มขึ้น 19% เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 56 ราย
และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 118 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 33,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จ้างงานคนไทย 1,932 คน เพิ่มขึ้น 15% โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 46 ราย สัดส่วน 26% เงินลงทุน 12,172 ล้านบาท 2.สิงคโปร์ 30 ราย สัดส่วน 17% เงินลงทุน 4,507 ล้านบาท 3.สหรัฐฯ 25 ราย สัดส่วน 14% เงินลงทุน 1,687 ล้านบาท 4.จีน 10 ราย สัดส่วน 6% เงินลงทุน 10,987 ล้านบาท และ 5.สมาพันธรัฐสวิส 9 ราย สัดส่วน 5% เงินลงทุน 1,677 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในการเข้ามาลงทุน ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานสลิงและอุปกรณ์ช่วยยกในงานขุดเจาะ องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของระบบการให้บริการรายการโทรทัศน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet Protocol Television : IPTV) องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ การสร้างแบบจำลองแบบ 3 มิติ และการทำงานของแดมเปอร์เฉพาะทางบนคอมพิวเตอร์ และองค์ความรู้เกี่ยวกับทักษะการออกแบบแม่พิมพ์โลหะ (Die Cast) สำหรับชุดจ่ายน้ำมันและโช้คอัพรถจักรยานยนต์ เป็นต้น
สำหรับ ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในช่วง 3 เดือนของปี 2566 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน ตลอดจนการบริหารจัดการ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า บริการก่อสร้าง
รวมทั้ง ติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก บริการทางวิศวกรรมด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจวิศวกรรมยานยนต์ บริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัลซึ่งเป็นการพัฒนาปรับปรุงแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการแพลตฟอร์มกลาง บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งให้บริการแก่กิจการของวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ
ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 3 เดือน มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 31 ราย คิดเป็น 18% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 3,264 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 13 ราย ลงทุน 1,826 ล้านบาท จีน 5 ราย ลงทุน 529 ล้านบาท ไต้หวัน 3 ราย ลงทุน 37 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ อีก 10 ราย ลงทุน 872 ล้านบาท
โดยธุรกิจที่ลงทุน เช่น 1.บริการทางวิศวกรรมด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจวิศวกรรมยานยนต์ 2.บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบ และทดลองการใช้งานเครื่องอัดอากาศ และดำเนินการวิเคราะห์ทางวิศวกรรม เป็นต้น 3.บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนโลหะ และชิ้นส่วนพลาสติก 4.บริการรับจ้างผลิตถุงบรรจุภัณฑ์พลาสติก พาเลทพลาสติก ฟิล์มพลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ และ 5.การค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ เป็นต้น