- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 11 April 2023 14:19
- Hits: 1512
ส่งออกอัญมณีก.พ.66 มูลค่า 1,012.77 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวพุ่งแรง 75.03%
ส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับ ก.พ.66 มีมูลค่า 1,012.77 ล้านเหรียญสหรัฐ บวกแรก 75.03% หากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,193.59 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 8.90% เผยปัจจัยหนุนมาจากหลายประเทศจัดงานแฟร์ จัดแคมเปญดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะฮ่องกงและกาตาร์ และการบริโภคกลับมาคึกคัก ทำให้มีความต้องการสินค้ากลุ่มนี้เพิ่ม แต่เพชรชะลอตัว เหตุมีการกดดันไม่บริโภคเพชรจากรัสเซีย แนะเตรียมพร้อมลดคาร์บอน เชื่ออนาคตมาแน่
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนก.พ.2566 มีมูลค่า 1,012.77 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 75.03% ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้แรงมาก หลังจากที่เดือนม.ค.2566 ที่ผ่านมา การส่งออกชะลอตัวลง
โดยเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญ และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว รวมถึงอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศ เริ่มทรงตัวและเริ่มลดลง ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น แต่การส่งออก หากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,193.59 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.90% และรวม 2 เดือน ของปี 2566 (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออก ไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 1,586.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 36.86% และรวมทองคำ มูลค่า 1,926.52 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.28%
สำหรับ ตลาดส่งออกสำคัญ พบว่าหลายตลาดยังคงขยายตัวได้ดี เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 6.44% อิตาลี เพิ่ม 285.88% ฮ่องกง เพิ่ม 301.44% สิงคโปร์ เพิ่ม 236.78% กาตาร์ เพิ่ม 2,116.76% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 64.65% ส่วนเยอรมนี ลด 10.98% สหราชอาณาจักร ลด 28.33% เบลเยียม ลด 9.93% และอินเดีย ลด 71.94%
ส่วนสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับทอง เพิ่ม 102.90% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 54.93% พลอยก้อน เพิ่ม 23.62% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 211.37% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 223.86% อัญมณีสังเคราะห์ เพิ่ม 4.99% ส่วนเครื่องประดับเงิน ลด 18.58% เพชรก้อน ลด 18.80% เพชรเจียระไน ลด 16.15% เครื่องประดับเทียม ลด 16.05% และทองคำ ลด 62.96%
นายสุเมธ กล่าวว่า ปัจจัยที่ช่วยให้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในหลายตลาดเติบโตได้สูงมาก โดยเฉพาะฮ่องกงและกาตาร์ เพราะมีการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และการจัดแคมเปญเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและภาคธุรกิจ สร้างแรงจูงใจให้มีแรงซื้อกลับเข้ามา อิตาลีมีแรงซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากปลายปีก่อน ทั้งจากการเติบโตของการค้าปลีกและการท่องเที่ยว
รวมทั้งการลดราคาสินค้าประจำปี ทำให้การบริโภคกลับมาคึกคัก ตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งนิยมเครื่องประดับทองทั้งแบบทองล้วนและประดับเพชรเป็นอีกภูมิภาคที่สามารถเติบโตได้ดี ขณะที่เพชรเจียระไนในปีนี้ อาจประสบปัญหาเนื่องจากประเทศขั้วตรงข้าม พยายามเข้ามากดดันไม่บริโภคเพชรที่มาจากรัสเซีย ทำให้หลายตลาดอาจหันมาบริโภคสินค้าทดแทนอย่างพลอยสีเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการควรสร้างความเข้าใจและระมัดระวังการทำตลาดแบบแบ่งแยกกลุ่มให้ชัดเจน
นอกจากนี้ ต้องสร้างแนวทางการลดก๊าซคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน เพราะแม้มาตรการภาษีคาร์บอนยังไม่เกิดขึ้นกับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ แต่ในอนาคตจะครอบคลุมสินค้าทั้งหมด โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก