- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 19 March 2023 20:21
- Hits: 1681
จุรินทร์ ประกาศร่วมสหภาพยุโรป นับหนึ่งเจรจา FTA ไทย-อียู ตั้งเป้า 2 ปีจบ
จุรินทร์ ประกาศนับหนึ่งเจรจา FTA ไทย-อียู ร่วมกับรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ตั้งเป้าเจรจาให้จบภายใน 2 ปี หรือปี 68 ดีเดย์ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งแรก ก.ค.นี้ โชว์ประโยชน์เพียบ หาก FTA บังคับใช้ ภาษีส่งออกไปอียูเป็น 0% เปิดโอกาสขยายตลาดบริการ ลดต้นทุนนำเข้า ดึงดูดการลงทุนมาไทยเพิ่ม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือเทียบเท่าในระดับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสหภาพยุโรป ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ ว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของ 2 ฝ่าย ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ที่ประกาศนับหนึ่งอย่างเป็นทางการในการเริ่มต้นการเจรจาทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-อียู หลังจากที่ 2 ฝ่ายใช้ความพยายามมาเกือบ 10 ปี โดยตั้งเป้าเจรจาให้เสร็จภายใน 2 ปี คือปี 2025 หรือปี 2568
ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มีการเริ่มต้นการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเป็นครั้งแรกในเดือนก.ค.2566 โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพ มีนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหัวหน้าทีม และการเจรจาจะครอบคลุมเรื่องการค้า บริการ และการลงทุน และเรื่องอื่นๆ ซึ่งทีมเจรจาจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมอยู่แล้ว ไม่มีอะไรน่ากังวล
และเมื่อได้ข้อตกลงครบทุกหัวข้อแล้ว ตามขั้นตอนก็จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และนำเข้าที่ประชุมรัฐสภาต่อไป เพื่อให้สัตยาบัน โดยฝั่งอียูก็ดำเนินการทางฝั่งอียูเช่นเดียวกัน และจากนั้นจะลงนามบังคับใช้ได้
“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เกิดจากที่ผมได้นำคณะเดินทางไปพบกับท่านวัลดิส ดอมบรอฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา มีความเห็นร่วมกันในการไปดำเนินการภายในประเทศให้เสร็จสิ้น ซึ่งผมได้นำเรื่องเสนอขอความเห็นชอบผ่านที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2566 และครม. ให้ความเห็นชอบ วันนี้จึงได้มาพบกับท่านดอมบรอฟสกิสอีกครั้ง และประกาศร่วมกันอย่างเป็นทางการนับหนึ่งการจัดทำ FTA ไทย-อียู”นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการทำ FTA ไทย-อียู โดยเมื่อ FTA มีผลบังคับใช้ ภาษีการส่งออกสินค้าไทยไปสหภาพยุโรป 27 ประเทศในที่สุดจะเป็น 0% ทำให้ไทยสามารถแข่งขันด้านราคาและมีแต้มต่อกับประเทศที่ไม่ได้ทำ FTA กับอียู เช่น ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เสื้อผ้าสิ่งทอ อาหาร ยางพารา เคมีภัณฑ์และพลาสติก เป็นต้น ส่วนภาคบริการ จะสร้างโอกาสในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ เช่น ค้าส่งค้าปลีก การผลิตอาหาร และการท่องเที่ยว เป็นต้น และการนำเข้าวัตถุดิบภาษีก็จะเป็น 0% เช่นเดียวกัน ทำให้ภาคการผลิตของไทยลดต้นทุนการผลิตได้ โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ และเคมีภัณฑ์
นอกจากนี้ จะมีการแลกเปลี่ยนการลงทุนระหว่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย โดยไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มีส่วนสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนในไทย เพราะจะได้แต้มต่อในการส่งออก การค้า การลงทุนกับอียู 27 ประเทศ ช่วยเพิ่มตัวเลขการลงทุน และจีดีพีให้กับประเทศ
และทำให้ไทยเพิ่มจำนวน FTA มากขึ้นจากปัจจุบันมี 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ เพิ่มเป็น 15 ฉบับกับ 45 ประเทศในทันทีที่มีผลบังคับใช้ ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนที่อียูทำ FTA ด้วย โดยมีเวียดนามและสิงคโปร์ ที่มี FTA กับอียูแล้ว
ปัจจุบัน อียูมีประชากรรวมกันประมาณ 500 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 4 ของไทย มีสัดส่วนมูลค่าการค้ากับไทย 7% ที่ไทยค้ากับโลก ตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปปี 2565 ประเทศไทยได้ดุลถึง 150,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุม นายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส ได้โพสต์ผ่านทวิสเตอร์ Valdis Dombrovskis ทันที ว่า อียู-ไทย ฟื้นการเจรจาข้อตกลงทางการค้า ตนยินดีอย่างยิ่งต่อการฟื้นการเจรจากับไทย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ในอาเซียน ความตกลง FTA ไทย-อียู ที่ทันสมัย มีพลวัต จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย จะเสริมสร้างและขยายความสัมพันธ์ทางการค้าของอียูกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก