- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 11 March 2023 06:42
- Hits: 1508
ไทย-ออสซี่ ติดตามงานภายใต้ FTA ถกร่วมมือ 8 สาขา สบช่องดันขายเป็ดปรุงสุก ส่งออกแรงงาน
ไทย-ออสเตรเลียประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA JC) ครั้งที่ 4 ติดตามการดำเนินงานด้านต่างๆ ทั้งการเปิดตลาด กฎถิ่นกำเนิดสินค้า สุขอนามัยและมาตรฐานอาหาร และความคืบหน้าแผนความร่วมมือใน 8 สาขา ที่ตั้งเป้าสำเร็จพ.ค.นี้ เผยไทยเล็งผลักดันส่งออกเป็ดปรุงสุก ออสเตรเลียดันส่งออกอะโวคาโดสด และดันแรงงานเข้าไปทำงานในออสเตรเลียเพิ่มขึ้น ทั้งนวดแผนไทย พ่อครัวแม่ครัว ดูแลผู้สูงอายุ เกษตรอัจฉริยะ โรงแรม
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA JC) ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา ที่กรุงเทพฯ ว่า ตนได้เป็นประธานร่วมกับนางจูเลียน่า นัม ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย เพื่อติดตามการดำเนินงานตามความตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 หรือเป็นเวลากว่า 19 ปี
โดยที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินงานของคณะทำงานภายใต้ TAFTA JC เช่น คณะทำงานด้านการเปิดตลาด คณะทำงานด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า และคณะทำงานด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและมาตรฐานอาหาร โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อปรับโอนพิกัดศุลกากรของกฎถิ่นกำเนิดสินค้าจากระบบ HS2002 เป็น HS2022 ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ภายในกลางปีนี้ รวมทั้งอยู่ระหว่างการตรวจรับรองด้านสุขอนามัย เพื่ออำนวยความสะดวกการส่งสินค้าเกษตรระหว่างกัน ซึ่งมีสินค้าเป็ดปรุงสุกไทยไปออสเตรเลีย และสินค้าอะโวคาโดสดออสเตรเลียมายังไทย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทย-ออสเตรเลีย (SECA) โดยเฉพาะการจัดทำแผนกิจกรรมเพื่อกระชับความร่วมมือ 8 สาขา ได้แก่ เกษตร ท่องเที่ยว สุขภาพ การศึกษา การลงทุน เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจดิจิทัล โดยตั้งเป้าให้เสร็จภายในเดือนพ.ค.2566 หลังจากที่รัฐมนตรีการค้าทั้งสองฝ่ายได้ลงนามการจัดทำยุทธศาสตร์ดังกล่าว เมื่อเดือนพ.ย.2565
ขณะเดียวกัน สองฝ่ายสนใจจะกระชับความร่วมมือด้านแรงงาน เพื่อเสริมความต้องการแรงงานในด้านต่างๆ ผ่านการยอมรับมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาที่สนใจ โดยไทยสนใจให้แรงงานไทยสามารถเข้าไปทำงานในออสเตรเลียมากขึ้น โดยเฉพาะสาขานวดแผนไทย พ่อครัวแม่ครัว ผู้ดูแลผู้สูงอายุ เกษตรกรอัจฉริยะ ผู้มีทักษะด้านดิจิทัล สตาร์ทอัป และการโรงแรม ส่วนออสเตรเลียสนใจเข้ามาทำงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับไทยในสาขา เช่น ภูมิสถาปนิก (landscape architect) และผู้ตรวจสอบปริมาณงาน (quantity surveyors)
ที่ผ่านมา FTA ฉบับนี้ เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทยและออสเตรเลียอย่างมาก เนื่องจากช่วยให้การค้าระหว่างไทยและออสเตรเลียเติบโตเพิ่มขึ้น ขยายตัวถึง 186% จากมูลค่า 6,427 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2548 เป็นมูลค่า 18,389 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 ซึ่งเป็นผลจากการที่ออสเตรเลียและไทยได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกือบทุกรายการแล้ว
ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยและออสเตรเลีย มีมูลค่า 18,388.92 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.30% โดยไทยส่งออกไปออสเตรเลีย มูลค่า 11,154.06 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอัญมณีเครื่องประดับ และไทยนำเข้าจากออสเตรเลีย มูลค่า 7,234.86 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และสินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์