- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 04 March 2023 13:58
- Hits: 1530
เอกชนหนุนเร่งเปิดเจรจา FTA ไทย-ยูเออี กรุยทางขยายโอกาสการค้า บริการ ลงทุน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยผลระดมความเห็นและผลการศึกษาทุกภาคส่วน พบเอกชนหนุนไทยเร่งเปิดการเจรจา FTA ไทย-ยูเออี ชี้จะช่วยขยายโอกาสทางการค้า บริการ และการลงทุน ไปยังตลาดยูเออีที่มีกำลังซื้อสูงและจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้า คาดจีดีพีจะขยายตัวถึง 0.08-0.09% และมีสินค้าไทยได้ประโยชน์เพียบ ทั้งอาหาร สิ่งทอ และเคมีภัณฑ์
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการจัดประชุมระดมความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เรื่อง “การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)” เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา ว่า ภาคเอกชนได้สนับสนุนให้ไทยเร่งเปิดการเจรจาจัดทำ FTA กับยูเออีโดยเร็ว เพื่อขยายโอกาสทางการค้า การค้าบริการ และการลงทุนของไทยไปยังตลาดยูเออี
ซึ่งผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง และจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร และยูเออียังมีนโยบายการลงทุนที่เปิดกว้าง และอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนอย่างเต็มที่ ซึ่งไทยสามารถดึงดูดนักลงทุนยูเออีมาไทยในสาขาที่ยูเออีมีศักยภาพ และสนใจไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะบริการด้านคอมพิวเตอร์และข้อมูล
ส่วนผลการระดมความเห็นที่กรมฯ ได้มอบบริษัท โบลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี จำกัด นำเสนอผลการศึกษาเรื่องการเข้าสู่ตลาดยูเออีของไทย ผ่าน FTA พบว่า จะช่วยเพิ่มแต้มต่อและโอกาสทางการแข่งขันให้กับสินค้าและบริการไทย ทั้งตลาดยูเออี และตลาดกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC) ที่มีสมาชิก 6 ประเทศ
ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน กาตาร์ และคูเวต โดยจะช่วยให้จีดีพีของไทยขยายตัว 0.08-0.09% หรือมูลค่า 318-357 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการจัดทำ FTA ระหว่างกัน
สำหรับ สินค้าที่ไทยจะสามารถส่งออกไปยังตลาดยูเออีได้มากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร สิ่งทอ เครื่องเเต่งกาย ผลิตภัณฑ์หนังสัตว์ ไม้ เคมีภัณฑ์ ยางและพลาสติก โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือและเครื่องจักร และยานยนต์และชิ้นส่วน และสินค้าที่ไทยจะสามารถนำเข้าจากยูเออีได้มากขึ้น เช่น น้ำมันและไขมันที่ได้จากพืช เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์โลหะ และยานยนต์และชิ้นส่วน
ทั้งนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ไทยร่วมเปิดเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement : CEPA) ระหว่างไทยกับยูเออี ตามที่หลังจากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำเสนอ
ซึ่งเป็นไปตามที่กรมฯ ได้นำผลการศึกษา ผลการระดมความเห็น และร่างกรอบเจรจา FTA ไทย-ยูเออี ซึ่งผ่านการหารือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตร และภาคประชาสังคม เสนอกระทรวงพาณิชย์เพื่อนำเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบ
ปัจจุบัน ยูเออีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลาง โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับยูเออีมีมูลค่า 20,824.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 73.90% โดยไทยส่งออกไปยูเออีมูลค่า 3,420.23 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
อัญมณีและเครื่องประดับ และไม้ และไทยนำเข้าจากยูเออีมูลค่า 17,403.99 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และเครื่องเพชรพลอย