- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 04 March 2023 12:28
- Hits: 1361
คต. อัดนโยบายโปรโมทสินค้าไทยสู่สากล พร้อมเน้นย้ำการใช้มาตรการทางการค้าที่เป็นธรรม
กรมการค้าต่างประเทศเดินหน้าส่งเสริมการส่งออกของผู้ประกอบการไทยในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการส่งเสริมและผลักดันสินค้าเกษตรสำคัญและสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยในเวทีนานาชาติ ส่งเสริมการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และสนับสนุนการค้าชายแดน
พร้อมยืนยันการใช้มาตรการทางการค้าด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรม เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยทุกฝ่าย
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศมีพันธกิจหลักในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้าต่างประเทศในหลากหลายมิติ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าในการบุกตลาดที่มีศักยภาพ และสร้างแต้มต่อทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย ในการสร้างมูลค่าการค้าของไทยให้เพิ่มขึ้น
พร้อมกับติดตามการใช้มาตรการทางการค้าของประเทศต่างๆ เพื่อปกป้องและสร้างความเป็นธรรมทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีความคืบหน้าด้านการบริหารการนำเข้า-ส่งออกและมาตรการทางการค้าต่าง ๆ ดังนี้
- ด้านการส่งเสริมและผลักดันสินค้าเกษตรสำคัญ
กรมฯ ได้เร่งส่งเสริมและผลักดันสินค้าเกษตรสำคัญต่าง ๆ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง รวมถึงการยกระดับสินค้าเกษตรนวัตกรรมต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้อย่างกว้างขวางและสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภค โดยกรมฯ ได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและผลักดันสินค้าข้าวและมันสำปะหลัง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ดังนี้
1) การจัดการประชุมสัมมนามันสำปะหลังโลก กรมฯ ร่วมกับสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงาน ผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงานประชุมสัมมนามันสำปะหลังโลก ปี 2566 (World Tapioca Conference หรือ WTC 2023) ระหว่างวันที่ 23 – 25 กุมภาพันธ์ 2566 ณ จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้แนวคิด’มันสำปะหลังเปลี่ยนโลก (Tapioca change the World)’ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน ใน 5 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่
– สัมมนาเชิงวิชาการ
– แลกเปลี่ยนข้อมูลต่อยอดงานวิจัย
– ผลงานนวัตกรรมมันสำปะหลัง
– การจับคู่เจรจาธุรกิจ
– ลงนาม MOU
ซื้อขายมันสำปะหลังล่วงหน้ากับผู้นำเข้าคือ จีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และตุรกี 2 ล้านตัน เทียบเท่า 4.76 ล้านตันหัวมันสด มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ถือเป็นความสำเร็จอีกครั้งภายหลังจากไทยได้เคยลงนาม MOU ซื้อขายล่วงหน้ากับผู้นำเข้าฟิลิปปินส์ในปริมาณ 2 ล้านตันเช่นกัน ซึ่งเมื่อรวม 2 ครั้ง สามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท ช่วยสร้างความมั่นใจว่าราคาหัวมันสดของไทยจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ สถิติการส่งออกมันสำปะหลังเดือนมกราคม 2566 มีมูลค่า 11,554.94 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.03% (เดือนมกราคม 2565 มีมูลค่า 12,039.73 ล้านบาท)
2) การเข้าร่วมงาน BIOFACH 2023 ระหว่างวันที่ 14 – 17 กุมภาพันธ์ 2566 ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งถือเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญและใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลก ซึ่งในแต่ละปีมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 36,000 ราย และมีผู้ประกอบการเข้าร่วมจัดแสดงสินค้ากว่า 2,700 ราย จากกว่า 130 ประเทศทั่วโลก
โดยกรมฯ ได้เข้าร่วมการจัดนิทรรศการและแสดงตัวอย่างสินค้าข้าวอินทรีย์และผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์ของไทยชนิดต่าง ๆ เช่น ข้าวหอมมะลิไทยอินทรีย์ ข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ แป้งข้าวอินทรีย์ เครื่องดื่มจากข้าวอินทรีย์ และขนมอบกรอบที่ทำจากข้าวอินทรีย์ เป็นต้น
รวมทั้งจัดให้มีการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการและผู้นำเข้าจากต่างประเทศภายในงานอีกด้วย โดยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าคำสั่งซื้อข้าวอินทรีย์ไทยกว่า 14 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์ไทยอีกกว่า 10 ล้านบาท
นอกจากนี้ แนวโน้มการผลิตและตลาดเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงปี 2564 และเริ่มชะลอตัวในปี 2565 เนื่องจากรายได้ของผู้บริโภคลดลงและราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 2566 เกษตรอินทรีย์ในยุโรป เช่น เยอรมนี อิตาลี และสหราชอาณาจักร มีทิศทางเติบโตแต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
3) การเข้าร่วมงาน Gulfood 2023 ระหว่างวันที่ 20 – 24 กุมภาพันธ์ 2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100,000 ราย และมีผู้ประกอบการเข้าร่วมจัดแสดงสินค้ากว่า 5,000 ราย จาก 125 ประเทศทั่วโลก
โดยกรมฯ นำผู้ประกอบการค้าข้าวไทยจำนวน 14 ราย เข้าร่วมจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ภายใต้ Thailand Pavilion ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งภายในงานมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายของข้าวไทยควบคู่กับเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย
พร้อมจัดแสดงตัวอย่าง และการชิมข้าวไทยชนิดต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าชมงานได้สัมผัสรสชาติของข้าวไทยที่มีความหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ และได้มีการนำเสนอข้าวคุณลักษณะพิเศษของไทยและข้าวเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
อาทิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมนิล ข้าวกล้องแดง ข้าว กข43 เพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้นำผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรนวัตกรรมไทย กว่า 50 รายการ จาก 33 บริษัท เข้าร่วมจัดแสดงและประชาสัมพันธ์ด้วย เช่น น้ำนมข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่งอก สารสกัดเซซามินจากเมล็ดงาดำ กาแฟพริกขี้หนู เป็นต้น
ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้นำเข้าและผู้กระจายสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการร้านอาหารที่ต้องการจะนำเข้าวัตถุดิบประเภทเครื่องปรุงที่ทำจากสินค้าเกษตรไทยซึ่งมีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยและสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยในภูมิภาคอื่นๆ กรมฯ มีแผนที่จะเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติระดับโลกอีก ได้แก่ งาน Foodex Japan 2023 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น งาน Canton Fair 2023 ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน งาน The 20th China-ASEAN Expo (CAEXPO)
ณ นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน งาน Fine Food Australia 2023 ณ นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย และงาน Beauty World Middle East 2023 ณ นครดูไบ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งนี้ สถิติการส่งออกข้าวเดือนมกราคม 2566 มีมูลค่า 14,277.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 78.76% (เดือนมกราคม 2565 มีมูลค่า 7,986.78 ล้านบาท)
- ด้านการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self – Certification)
กรมฯ ได้จัดการส่งเสริมความรู้แก่ผู้ประกอบการในเรื่อง การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-Certification) ซึ่งการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ผู้ส่งออกสามารถรับรองตนเองว่าสินค้าของตนนั้น ทำได้ตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งการรับรองตนเองนี้
สามารถรับรองตนเองลงในเอกสารทางการค้าได้เลย เช่น Invoice, Packing List เป็นต้น เพื่อนำไปใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรที่ประเทศปลายทางเพื่อขอยกเว้นหรือลดภาษีนำเข้าได้เช่นเดียวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ปัจจุบัน กรมฯ ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนระบบ Self-Certification จำนวน 3 ระบบ ได้แก่
(1) การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Wide Self-Certification: AWSC)
(2) การได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในการส่งออกไปสมาพันธรัฐสวิสและราชอาณาจักรนอร์เวย์ (Registered Exporter System: REX)
(3) การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) โดยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
กรมฯ ได้จัดสัมมนา เรื่อง ‘เพิ่มขีดความสามารถการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-Certification)’ ณ จังหวัดชลบุรี เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีผู้เข้าร่วมกว่า 250 ราย
- ด้านการค้าชายแดนและผ่านแดน
กรมฯ ได้การดำเนินการเพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน โดยผลักดันการเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มเติม เพื่อขนส่งสินค้าภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีจุดผ่านแดนเปิดเพิ่ม ดังนี้
(1) จุดผ่านแดนเปิดเพิ่มจำนวน 1 แห่ง (เปิดพร้อมกันทั้งสองฝ่าย)
(2) จุดผ่านแดนฝั่งไทยเปิดเพิ่มจำนวน 6 แห่ง (ฝั่งไทยเปิดฝ่ายเดียว)
(3) จุดผ่านแดนฝั่งเพื่อนบ้านเปิดเพิ่มจำนวน 2 แห่ง (ฝั่งไทยเปิดอยู่แล้ว)
ส่งผลให้ ณ ปัจจุบัน (วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566) มีจุดผ่านแดนฝั่งไทยเปิดแล้ว 87 แห่ง จากทั้งหมด 97 แห่ง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเปิด 74 แห่ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายผลักดันการเปิดด่านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประเทศเพื่อนบ้านให้เปิดด่านตรงข้ามกับที่ฝั่งไทยเปิดแล้วหรือมีความพร้อมที่จะเปิดด่าน
- ด้านมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD)
กรมฯ ยืนยันว่าการทบทวนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ของคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) ในสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GL) จากเวียดนาม และสินค้าแผ่นเหล็กรีดร้อนจากบราซิล อิหร่าน และตุรกี เป็นไปตามหลักกฎหมาย เป็นกลาง โปร่งใส และเน้นการมีส่วนร่วมในกระบวนการของผู้มีส่วนได้เสีย
คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายและผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ โดยคณะกรรมการ ทตอ. ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ ซึ่งมีความเป็นอิสระในการพิจารณาและตัดสินใจ จนได้ผลการวินิจฉัยอันเป็นมติของคณะกรรมการ ทตอ. ทั้งคณะ โดยไม่ใช่อำนาจการตัดสินใจของกระทรวงพาณิชย์หรือกรมการค้าต่างประเทศหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ในส่วนของการทบทวนเพื่อต่ออายุมาตรการฯ ตามมาตรา 57 มีหลักเกณฑ์พิจารณาข้อมูลที่เป็นจริง 5 ข้อ ดังนี้
(1) ราคาที่แสดงการทุ่มตลาด (ราคาส่งออกมาไทยต่ำกว่าราคาที่ขายในประเทศที่ถูกกล่าวหา)
(2) ความเสียหายที่เกิดกับอุตสาหกรรมภายใน ได้แก่ ปริมาณการนำเข้า ผลกระทบด้านราคา เช่น การตัดราคา กดราคา และยับยั้งการขึ้นราคา
(3) ผลกระทบที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายใน 15 ปัจจัย เช่น กำไร/ขาดทุน ผลผลิต ปริมาณขายในประเทศ ส่วนแบ่งตลาด อัตราการเจริญเติบโต เป็นต้น
(4) ศักยภาพในการผลิตและโอกาสการส่งออกของประเทศที่ถูกกล่าวหามายังประเทศไทย
(5) ผลกระทบที่อาจเกิดต่อภาคส่วนอื่น ๆ เช่น ภาคการผลิต ภาคบริการ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้เหล็กเป็นต้นทุนการผลิต
นอกจากนี้ กรมฯ ในฐานะเป็นฝ่ายเลขาฯ ทตอ. ได้กำหนดแนวทางใหม่ 2 แนวทาง ที่จะดำเนินการในกรณีที่ผลการทบทวนฯ ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ ปรากฏว่าให้ยุติมาตรการ คือ
(1) แจ้งด่วนต่อผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อตักเตือนไม่ให้มีพฤติกรรมการทุ่มตลาดมายังประเทศไทยอีก
(2) กรมฯ จะเฝ้าติดตามการนำเข้าสินค้าจากประเทศต้นทาง หากมีพฤติกรรมที่ส่อแนวโน้มการทุ่มตลาดมายังประเทศไทย
กรมฯ จะดำเนินการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดทันทีหากภาคเอกชนมีความล่าช้าในการยื่นคำขอเปิดไต่สวน และจะเร่งกระบวนการไต่สวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อการใช้มาตรการฯ ให้ทันท่วงที ยิ่งกว่านั้นกรมฯ จะขึ้นบัญชีดำว่าประเทศผู้ส่งออกดังกล่าวมีพฤติกรรมการทุ่มตลาดกลับมาอีกเป็นรอบที่สอง เพื่อนำบัญชีดำนี้มาใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการพิจารณาทบทวนมาตรการฯ ของคณะกรรมการ ทตอ. เมื่อการใช้มาตรการฯ ผ่านพ้นกรอบเวลาที่กำหนด
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการค้าต่างประเทศ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สายด่วน 1385 หรือ Facebook เพจ “กรมการค้าต่างประเทศ DFT” หรือเว็บไซต์ www.dft.go.th