- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 03 March 2023 08:22
- Hits: 1842
สนค.วิเคราะห์ 1 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งออกกระทบ โลกป่วน คาดปีนี้หลายสินค้าขายรัสเซียรุ่ง
สนค.วิเคราะห์ครบรอบ 1 ปี สงครามรัสเซีย-ยูเครน พบส่งออกไทยไป 2 ตลาดติดลบหนัก รัสเซียลด 43.3% ยูเครน ลด 71.4% กระทบส่งออกภาพรวมไม่มาก เหตุมีสัดส่วนแค่ 0.5% ของการส่งออกรวม แต่ทำโลกป่วน น้ำมัน เหล็ก แร่ ธัญพืช ปุ๋ย เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยพุ่ง แนะผู้ส่งออกประกันความเสี่ยงรับมือ เผยในวิกฤตยังมีโอกาส คาดปีนี้หลายสินค้ามีโอกาสส่งออกรัสเซียได้เพิ่มขึ้น ส่วนยูเครนยังหนัก
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบและโอกาสของการส่งออกไทย จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ดำเนินมาครบรอบ 1 ปี
โดยพบว่า มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งออกไทยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการส่งออกจากไทยไปรัสเซียและยูเครน ที่หดตัวอย่างรุนแรง เนื่องจากมีอุปสรรคในเรื่องระบบขนส่ง โลจิสติกส์ การชำระเงินระหว่างประเทศ ทำให้การส่งออกไปรัสเซียติดลบ 10 เดือนต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนมี.ค.2565 และทั้งปี 2565 ลดลง 43.3% เช่นเดียวกับการส่งออกไปยูเครนที่ติดลบรุนแรง 12 เดือน ตั้งแต่เดือนม.ค.2565 ทั้งปี 2565 ติดลบ 71.4%
ทั้งนี้ แม้การส่งออกไปรัสเซียและยูเครนจะติดลบสูง แต่มีผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทยไม่มาก เพราะมีสัดส่วนแค่ 0.5% ของการส่งออกในภาพรวม ส่วนทางอ้อม มีผลกระทบต่อการส่งออกไทยเป็นวงกว้าง ทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้า
การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบและขาดแคลนวัตถุดิบ เช่น เหล็ก แร่สำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์และแบตเตอรี ธัญพืช ข้าวสาลี ข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน และปุ๋ย เป็นต้น และยิ่งไปกว่านั้น ยังผลักดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นทั่วโลก นำมาซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่ส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน และกดให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงตามมา
“ผลกระทบดังกล่าว เริ่มเห็นชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ที่การส่งออกของไทยชะลอตัวลงต่อเนื่องจนติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน เมื่อเดือนต.ค.2565 ที่ 4.4% และหดตัวต่อเนื่องในเดือน พ.ย. 6% และ ธ.ค.อีก 14.6% ส่งผลให้ครึ่งปีหลังหดตัว 1.2% แต่ภาพรวมทั้งปี 2565 ยังขยายตัวได้ 5.5%”นายพูนพงษ์กล่าว
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนหลังจากนี้ มองว่าการสู้รบจะยังคงยืดเยื้อ และไม่มีทีท่ายุติลงในเร็ววันนี้ เนื่องจากรัสเซียยังประกาศปฏิบัติการทางทหารต่อ และวางแผนเพิ่มกำลังพล ตลอดจนการระงับสนธิสัญญาควบคุมการใช้อาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ
ซึ่งกังวลว่าอาจบานปลายกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ขณะที่ชาติตะวันตก ก็พร้อมตอบโต้รัสเซีย และสนับสนุนยูเครนไปจนกว่าความขัดแย้งจะยุติ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรประกันความเสี่ยง ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแสวงหาการค้าใหม่ๆ ที่มีโอกาสเติบโต
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมตลาดส่งออกไปรัสเซียจะติดลบ แต่มองว่าหลังจากนี้ การส่งออกไปยังรัสเซียมีโอกาสฟื้นตัวกลับมาได้มากขึ้น ด้วยสัญญาณที่ดีจากเศรษฐกิจรัสเซียในปี 2565 ที่หดตัวเพียง 2.1% ดีกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้ในช่วงแรกของความขัดแย้งว่าจะหดตัวมากกว่า 10% ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจรัสเซียยังแข็งแกร่งและสามารถรับมือกับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรได้มากกว่าที่คาดไว้
ขณะที่ในปี 2566 IMF คาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะกลับมาเติบโตที่ได้ 0.3% จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายตลาดจากการที่รัสเซียพยายามหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนสินค้าจากมาตรการคว่ำบาตร และทดแทนสินค้าของชาติตะวันตกที่ออกไปจากตลาด
สำหรับ สินค้าที่มีโอกาส เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ เนื่องจากรัสเซียเริ่มขาดแคลนสินค้ากลุ่มนี้ ขณะที่สินค้าเกษตรและอาหาร ไทยมีศักยภาพมาก โดยในปี 2565 การส่งออกไปรัสเซียขยายตัวได้ดีกว่าตลาดโลกหลายรายการ เช่น ข้าว เพิ่ม 315.5% มันสำปะหลังโต เพิ่ม 197.6% ผลไม้กระป๋องโต เพิ่ม 33.0% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปโต เพิ่ม 44.0% เครื่องดื่ม เพิ่ม 37.4% อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 23.5%
สินค้าอุตสาหกรรมก็ขยายตัวดี เช่น เม็ดพลาสติก เพิ่ม 11.7% น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่ม 44.7% เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ เพิ่ม 69.6% โดยประเมินว่าสินค้าเหล่านี้ จะยังมีโอกาสขยายตัวได้เพิ่มขึ้นต่อไป
ส่วนการส่งออกไปยูเครน ปีที่ผ่านมา หดตัวเกือบทุกรายการ หมวดสินค้าเกษตร ลดลง 90.7% อุตสาหกรรมเกษตร ลด 69.0% และสินค้าอุตสาหกรรม ลด 70.9% เนื่องจากภาวะสงครามสร้างข้อจำกัดในทุกด้าน โดยเศรษฐกิจยูเครนปี 2565 หดตัวถึง 30.4%
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าในขณะนี้การส่งออกไปยูเครนยังไม่มีโอกาสมากนัก เนื่องจากยูเครนยังอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เป็นปกติ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานและพื้นที่ทางการเกษตรในประเทศเสียหายอย่างหนัก ซึ่งคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ