WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พาณิชย์ เผยยอดยื่นขอจัดตั้งบริษัทใหม่ เดือน พ.ย. 57 ทั้งสิ้น 4.42 พันราย โต 18% จากเดือนก่อน คาดทั้งปียอดขอจัดตั้งแตะราว 6 หมื่นราย

    นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์  อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนพฤศจิกายน 2557โดยมีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่   ทั่วประเทศจำนวน 4,422 ราย ลดลง 962 ราย คิดเป็น 18% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งมีจำนวน    5,384 ราย  และเพิ่มขึ้น 25 ราย คิดเป็น 1% เมื่อเทียบกับพฤศจิกายน 2556 ซึ่งมีจำนวน 4,397 ราย สำหรับ นิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2557 มีจำนวน 2,081 ราย เพิ่มขึ้น 440 ราย   คิดเป็น 27% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งมีจำนวน 1,641 ราย  และเพิ่มขึ้น 298 ราย คิดเป็น 17%  เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งมีจำนวน 1,783 ราย

   มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 35,910 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 15,644 ล้านบาท คิดเป็น 77% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งมีจำนวน 20,266 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจำนวน 10,461 ล้านบาท คิดเป็น 41% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2556  ซึ่งมีจำนวน  25,449 ล้านบาท

    ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 482 ราย  อสังหาริมทรัพย์ จำนวน 391 ราย  ภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 128 ราย  ธุรกิจจัดนำเที่ยว จำนวน 96 ราย  และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ 86 ราย ตามลำดับ

   ปัจจุบัน ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัดดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 595,666 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 14.71 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 414,103 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,069 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 180,494 ราย

   นางสาวผ่องพรรณ  เจียรวิริยะพันธ์  อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากล่าวเพิ่มเติมว่าการ จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทในเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (พ.ย.56) และลดลงจากเดือนก่อน (ต.ค.57)  คิดเป็น 18% ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลการจดทะเบียนที่เดือนพฤศจิกายนจะลดลงจากเดือนตุลาคม ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยเดือนตุลาคม ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน เนื่องจากการใช้จ่ายภายในประเทศยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้  ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวลดลง สอดคล้องกับยอดรวมการจดทะเบียนจัดตั้งในเดือนนี้ที่มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย สำหรับแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งในช่วงที่เหลือของปี 2557 (ธ.ค.)  ซึ่งน่าจะได้รับผลดีจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้น รวมทั้งมาตรการของรัฐบาลในการเร่งรัดเบิกจ่ายและการลงทุนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไป ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อการ  จดทะเบียนจัดตั้งโดยรวม จึงคาดว่าจะมีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทในปี 2557 ประมาณ 60,000 ราย

    สำหรับ เรื่องที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดข้ามเขตจังหวัด  ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2557 นั้นโดยในเดือนพฤศจิกายน 2557 มีการยื่นขอ จดทะเบียนข้ามเขต จำนวน 616 ราย จากการจดทะเบียนทั่วประเทศจำนวน 4,422 ราย หรือ คิดเป็น 14%   โดยแบ่งออกเป็น

   - ส่วนกลาง 442 ราย คิดเป็น 10% โดยสำนักงานในส่วนกลางที่รับจดทะเบียนข้ามเขต มากที่สุด คือ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 5 (บางนา)  99 ราย  รองลงมาส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สนามบินน้ำ) จำนวน 94 ราย

   - ส่วนภูมิภาค 174 ราย คิดเป็น 4% โดยสำนักงานในส่วนภูมิภาคที่รับจดทะเบียนข้ามเขตมากที่สุด คือ สพค.จังหวัดชลบุรี จำนวน 20 ราย  รองลงมา สพค.จังหวัดสมุทรปราการ และ สพค.ปทุมธานี จังหวัดละ 16 ราย

   นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้เปิดให้บริการโปรแกรมตรวจสอบข้อมูลทั่วไปของนิติบุคคล โดยสามารถค้นหาจากรายชื่อหรือเลขทะเบียนของนิติบุคคล  รวมทั้งข่าวสาร  กิจกรรม โครงการต่างๆ และสถานที่ให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าผ่านมือถือ (Application : DBD e-Service)  โดยระบบจะแสดงผลเป็นภาษาไทย ซึ่งสามารถใช้งานผ่านระบบปฏิบัติการ IOS และ Android โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557 เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีสถิติผู้ใช้บริการระบบจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2557  รวมทั้งสิ้น      260,188 ครั้ง โดยในเดือนตุลาคม  2557 มีการเข้าใช้ระบบนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 32,163 ครั้ง คิดเป็น 14%

    ท้ายนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังคงส่งเสริมให้มีการใช้ e-Commerce เพื่อประกอบธุรกิจและขยายตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมได้ออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) เพื่อยืนยันการมีตัวตนของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต บริการอินเทอร์เน็ต ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะต้อง จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว จำนวน 11,188 ราย  12,817 เว็บไซด์  ประกอบด้วยนิติบุคคล 3,049 ราย คิดเป็น 27%  บุคคลธรรมดา 8,139 ราย คิดเป็น 73% โดยธุรกิจที่ขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สูงสุด ได้แก่  ธุรกิจคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต จำนวน 2,395 เว็บไซด์  คิดเป็น19%  ธุรกิจแฟชั่น/เครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ จำนวน 2,008เว็บไซด์ คิดเป็น 16% และธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ  จำนวน 1,400 เว็บไซด์  คิดเป็น 11% ตามลำดับ ซึ่งการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภคมาใช้บริการ นอกจาก ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าออนไลน์แล้ว กรมยังได้หารือกับตลาดกลางออนไลน์ให้กำกับดูแลสมาชิกให้มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย  เพราะหากปฏิบัติไม่ถูกต้องจะมีโทษปรับ และอาจต้องพิจารณางดให้บริการเข้าขายสินค้าในตลาดกลางด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นการขยายตัวของการซื้อขายทางออนไลน์ของไทยให้เติบโตในอัตราก้าวกระโดดเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ยอดตั้งธุรกิจใหม่พ.ย.57 วูบจากต.ค. 18% คาดยอดทั้งปี 6.2 หมื่นบริษัท

     น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงสถิติการจดทะเบียนธุรกิจเดือนพ.ย.57 ว่า มีผู้ประกอบการยื่นจดตั้งใหม่ 4,422 ราย ลดลง 962 ราย หรือลดลง 18% เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.57 แต่เพิ่มขึ้น 25 รายหรือเพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.56 ซึ่งมีจำนวนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 4,397 ราย โดยมีทุนจดทะเบียน 35,910 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.57 และเพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.56 โดยสาเหตุที่มีการจัดตั้งใหม่ในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.ของทุกปี ลดลง เพราะบางรายไม่ต้องการส่งงบการเงิน หลังตั้งบริษัทได้เพียง 1 หรือ 2 เดือน จึงเลื่อนไปจดตั้งใหม่ในช่วงต้นปีใหม่แทน

     ส่วนการจดทะเบียนเลิกกิจการทั่วประเทศในเดือนพ.ย.57 มีจำนวน 2,081 ราย เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.56 และเพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.57 โดยมีทุนจดทะเบียนเลิกมูลค่า 9,184 ล้านบาท ลดลง 22% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.56 และลดลง 14% เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.57 สาเหตุที่มีการจดเลิกมาก เพราะเดือนพ.ย.มีการจดเลิกธุรกิจค้าสลากมากถึง 500 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ทำธุรกิจ และไม่ต้องการส่งงบการเงินจึงรีบจดเลิก ประกอบกับมีการเข้มงวดในการจดตั้งใหม่ จึงมีการจดตั้งใหม่ลดลง

     ขณะที่สถิติการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ช่วง 11 เดือน(ม.ค.-พ.ย.)ของปี 57 มีจำนวน 56,100 ราย ลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันที่ผ่านมา ส่วนการจดทะเบียนเลิกกิจการช่วง 11 เดือน มีจำนวน 13,900 ราย เพิ่มขึ้น 18% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าทั้งปี 57 จะมียอดจดทะเบียนตั้งใหม่ 60,000-62,000 ราย ส่วนปี 58 คาดว่ายอดจดตั้งใหม่จะใกล้เคียงกับปีนี้ที่ 60,000 ราย โดยมีปัจจัยบวก คือ การเมืองมีเสถียรภาพ การกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์และการท่องเที่ยว รวมทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงส่งผลดีต่อการประกอบธุรกิจ ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน

                อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!