- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 22 February 2023 19:37
- Hits: 1639
พาณิชย์ ยันการทบทวนใช้ AD สินค้าเหล็ก ยึดหลักกฎหมาย โปร่งใส มีมาตรการรับมือ
กรมการค้าต่างประเทศยันการทบทวนการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD)สินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GL) จากเวียดนาม และสินค้าแผ่นเหล็กรีดร้อนจากบราซิล อิหร่าน และตุรกี เป็นไปตามกฎหมาย โปร่งใส ตรงไปตรงมา คำนึงถึงผลกระทบทุกฝ่าย ย้ำหากต่อไปยุติใช้ AD จริง มีมาตรการรับมือไว้แล้ว ทั้งตักเตือนห้ามมีพฤติกรรมทุ่มตลาดอีก และเปิดไต่สวนทันที หากมีการทุ่มตลาด
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีการพิจารณาทบทวนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD)ของคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) สินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GL) จากเวียดนาม และสินค้าแผ่นเหล็กรีดร้อนจากบราซิล อิหร่าน และตุรกี ว่า ขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่าการไต่สวนการทุ่มตลาด
และทบทวนต่ออายุมาตรการของคณะกรรมการ ทตอ. อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย มีความเป็นธรรม และตรงไปตรงมา เพื่อรักษาผลประโยชน์ประเทศ คำนึงถึงความสมดุลของกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการค้าและการผลิต ทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยกรมฯ ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ทตอ.พร้อมรับฟัง และหารือร่วมกับทุกฝ่าย และรายงานต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาการไต่สวน และคณะกรรมการ ทตอ. เพื่อพิจารณาว่าจะใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดหรือไม่
ทั้งนี้ หากผลการทบทวนการใช้มาตรการ AD ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ปรากฏว่าให้ยุติมาตรการ กรมฯ ได้กำหนดแนวทางใหม่ที่จะดำเนินการ 2 แนวทาง คือ 1.แจ้งด่วนต่อผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อตักเตือนไม่ให้มีพฤติกรรมการทุ่มตลาดมายังประเทศไทยอีก 2.กรมฯ จะเฝ้าติดตามการนำเข้าสินค้าจากประเทศต้นทาง หากมีพฤติกรรมที่ส่อแนวโน้มการทุ่มตลาดมายังประเทศไทย จะดำเนินการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดทันที
หากภาคเอกชนมีความล่าช้าในการยื่นคำขอเปิดไต่สวน และจะเร่งกระบวนการไต่สวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อการใช้มาตรการให้ทันท่วงที และยิ่งกว่านั้น กรมฯ จะขึ้นบัญชีดำว่าประเทศผู้ส่งออกดังกล่าว มีพฤติกรรมการทุ่มตลาดกลับมาอีกเป็นรอบที่สอง เพื่อนำบัญชีดำนี้ มาใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการพิจารณาทบทวนมาตรการของคณะกรรมการ ทตอ. เมื่อการใช้มาตรการผ่านพ้นกรอบเวลาที่กำหนด
“คณะกรรมการ ทตอ. ประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ ทั้งเศรษฐศาสตร์ บัญชี นิติศาสตร์ และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีความเป็นอิสระในการพิจารณาและตัดสินใจ จนได้ผลการวินิจฉัยอันเป็นมติของคณะกรรมการ ทตอ. ทั้งคณะ โดยไม่ใช่อำนาจการตัดสินใจของกระทรวงพาณิชย์หรือโดยกรมการค้าต่างประเทศหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง”นายรณรงค์กล่าว
สำหรับ กระบวนการทบทวนการใช้มาตรการ AD ตามมาตรา 57 มีหลักเกณฑ์พิจารณาข้อมูลที่เป็นจริง 5 ข้อ ดังนี้ 1.ราคาที่แสดงการทุ่มตลาด (ราคาส่งออกมาไทยต่ำกว่าราคาที่ขายในประเทศที่ถูกกล่าวหา) 2.ความเสียหายที่เกิดกับอุตสาหกรรมภายใน ได้แก่ ปริมาณการนำเข้า ผลกระทบด้านราคา เช่น การตัดราคา กดราคา และยับยั้งการขึ้นราคา 3.ผลกระทบที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายใน 15 ปัจจัย เช่น กำไร ขาดทุน ผลผลิต ปริมาณขายในประเทศ ส่วนแบ่งตลาด อัตราการเจริญเติบโต เป็นต้น 4.ศักยภาพในการผลิตและโอกาสการส่งออกของประเทศที่ถูกกล่าวหามายังประเทศไทย
และ 5.ผลกระทบที่อาจเกิดต่อส่วนภาคอื่นๆ เช่น ภาคการผลิต ภาคบริการ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้เหล็กเป็นต้นทุนการผลิต ซึ่งส่งผ่านไปยังอัตราค่าครองชีพของผู้บริโภคภายในประเทศ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกรวบรวมและวิเคราะห์เพื่อประกอบการประเมินความเป็นไปได้ในการทุ่มตลาด และความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในว่าจะเกิดขึ้นต่อไปหรือฟื้นคืนกลับมาอีก รวมทั้งต้นทุนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ