- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 18 February 2023 21:32
- Hits: 1745
แอลจีเรีย เริ่มบังคับใช้กฎระเบียบการติดบาร์โค้ดแสดงหมายเลขสินค้าสากล
แอลจีเรียเดินหน้าใช้ระบบดิจิทัลในการค้าและบริการทุกภาคส่วน และจะเริ่มบังคับใช้กฎระเบียบการติดบาร์โค้ดแสดงหมายเลขสินค้าสากล (Global Trade Item Number: GTIN) บนสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศ สินค้านำเข้า และสินค้าส่งออก โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป กรณีสินค้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวอาจถูกปฏิเสธไม่ให้วางจำหน่ายในท้องตลาด
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไคโร กรณีกระทรวงการค้าและส่งเสริมการส่งออกของแอลจีเรียได้ออกกฎระเบียบกำหนดให้สินค้าที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศ สินค้านำเข้า และสินค้าส่งออก ต้องติดบาร์โค้ด GTIN เพื่อให้การซื้อขายเป็นไปอย่างสะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
ผู้จำหน่ายสามารถระบุรายละเอียดและข้อมูลที่จำเป็นของสินค้าได้อย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกในกระบวนการส่งออก หลีกเลี่ยงการถูกปลอมแปลง และผู้ซื้อสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังผู้ผลิตได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัท จำนวน 11,410 แห่ง ในแอลจีเรียได้ดำเนินการติดบาร์โค้ด GTIN บนสินค้าแล้วกว่า 500,000 รายการ ทั้งที่เป็นสินค้าอาหาร (Food products) และที่ไม่ใช่อาหาร (Non-Food products)
ภายใต้บาร์โค้ด GTIN ที่ปรากฏบนสินค้าที่วางจำหน่ายในแอลจีเรีย จะต้องประกอบด้วยข้อมูล ดังนี้
สินค้าอาหาร
– ฉลากสินค้า
– ชื่อหรือที่อยู่บริษัท เครื่องหมายการค้า และที่อยู่ของสินค้า ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือผู้นำเข้า
– ประเทศถิ่นกำเนิด/แหล่งนำเข้าสินค้า
– ปริมาณสุทธิ
– รูปภาพสินค้า
– ข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็น
– การติดฉลากอาหาร และเครื่องหมายฮาลาล
– รายการส่วนผสม ส่วนประกอบ และวัสดุ
– ร้อยละของปริมาณแอลกอฮอล์ในสินค้าเครื่องดื่ม
– วิธีการเก็บรักษา
สินค้าที่ไม่ใช่อาหาร
– ฉลากสินค้า
– ชื่อหรือที่อยู่บริษัท เครื่องหมายการค้า และที่อยู่ของสินค้า ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือผู้นำเข้า
– ประเทศถิ่นกำเนิด/แหล่งนำเข้าสินค้า
– ปริมาณสุทธิ
– รูปภาพสินค้า
– ข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็น
– เครื่องหมายความปลอดภัย
– ใบรับรองสินค้า
– ข้อควรระวังด้านความปลอดภัย
– ส่วนประกอบของสินค้าและวิธีการเก็บรักษา
หมายเลข GTIN คือ หมายเลขประจำตัวสินค้า หรือบาร์โค้ด (Barcode) ที่เป็นสัญลักษณ์ใช้บ่งชี้ชนิดของสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ประกอบด้วย รหัสประเทศ รหัสสมาชิกหรือรหัสประจำตัวบริษัท รหัสประจำตัวสินค้า ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้งานแพร่หลายกว่า 150 ประเทศ บาร์โค้ด GTIN ที่นิยมใช้กันทั่วโลกรวมถึงไทย คือ GTIN-13 (เลขประจำตัวสินค้าแบบค้าปลีก 13 หลัก) มีการแบ่งข้อมูลออกเป็น 4 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 คือ 3 หลักแรก เป็นรหัสประเทศ
ส่วนที่ 2 คือ รหัสบริษัท
ส่วนที่ 3 คือ รหัสสินค้า
ส่วนที่ 4 คือ ตัวเลขตรวจสอบข้อมูลบาร์โค้ด
การที่ผู้ประกอบการไทยมีการเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ของแอลจีเรียจะช่วยให้ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคและผู้นำเข้าของแอลจีเรีย และสามารถส่งออกไปตลาดแอลจีเรียได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ บาร์โค้ด GTIN ยังมีประโยชน์ทางด้านอื่น ๆ เช่น สามารถใช้เป็นเลขหมายในการค้าขายที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
สามารถบริหารจัดการด้วยระบบคอมพิวเตอร์แบบครบวงจร ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูลของสินค้า การตรวจสอบปริมาณสินค้าและการตัดสินค้าคงคลัง ตลอดจนการรับชำระเงินและการออกใบเสร็จได้อย่างสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ผลิตสินค้า
นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แอลจีเรียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 56 ของไทย และมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเฉลี่ยปีละ 15,998.86 ล้านบาท (ปี 2562 – 2564) ทั้งนี้ ในปี 2565 (ม.ค. – พ.ย.) ไทยมีการนำเข้าจากแอลจีเรียมูลค่า 21,721.25 ล้านบาท สินค้านำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และมีมูลค่าการส่งออก 2,128.30 ล้านบาท สินค้าส่งออก 5 อันดับแรก
ได้แก่ ข้าว เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ดังนั้น ผู้ประกอบการที่มีการส่งออกไปแอลจีเรีย ควรเร่งดำเนินการติดต่อขอใช้ บาร์โค้ด GTIN บนสินค้าได้ที่สถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยเบื้องต้นควรตรวจสอบกับคู่ค้าว่าต้องการใช้บาร์โค้ดประเภทใด เพื่อที่จะขอรับบาร์โค้ดบนผลิตภัณฑ์ได้ถูกประเภท
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถศึกษากฎระเบียบดังกล่าวเพิ่มเติมได้ตาม QR code ที่ปรากฏ หรือติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงได้ที่ สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงไคโร Email: [email protected] หรือ โทร (202)0 3762 0419 โทรสาร (202) 3336 3062