- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 16 December 2014 11:10
- Hits: 3150
ดีมานด์ข้าวเก่าในตลาดพุ่ง จังหวะเหมาะระบายสต๊อกรัฐ
แนวหน้า : นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การแยกข้าวดีและข้าวเสียของข้าวในสต๊อกของรัฐบาล ตามแผนการระบายของกระทรวงพาณิชย์ในปี 2558 นั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก และอาจทำได้ช้า เพราะข้าวแต่ละกองต้องใช้เวลาตรวจสอบสภาพ รวมถึงขั้นตอนด้านกฎหมายต่างๆ ทำให้การระบายข้าวในสต๊อกเป็นไปได้ค่อนข้างช้าอีกด้วย
ในขณะที่การระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบยกคลัง โดยให้ผู้สนใจซื้อสามารถเข้าไปตรวจสอบข้าวในคลังได้เองก่อน น่าจะทำให้การระบายข้าวของรัฐบาลดำเนินการได้เร็วขึ้น อีกทั้งรัฐบาลมีราคาในใจอยู่แล้ว ดังนั้น การกำหนดราคาระบายข้าวนั้น มองว่าควรมีการดูราคาในประเทศประกอบด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาในประเทศ และเมื่อใดที่ราคาข้าวในประเทศตก ก็ควรหยุดการระบายในช่วงนั้นทันที แต่ก็เชื่อว่าการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลในปี 2558 จะสามารถดำเนินการระบายได้เร็วกว่าปี 2557
“การจะระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล ไม่ให้กระทบกับราคาในประเทศ จังหวะเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเป็นช่วงดีๆ การนำข้าวออกมาขาย 4-5 แสนตัน ก็ทำได้โดยไม่กระทบกับราคาข้าวเปลือก และช่วง 2-3 เดือนนี้ หรือธันวาคม 2557-กุมภาพันธ์ 2558 จะเป็นช่วงที่ข้าวทิ้งช่วง เหมาะที่รัฐบาลจะนำข้าวออกมาขาย” นายเจริญ กล่าว
โดยขณะนี้ความต้องการข้าวเก่ามีมาก เห็นได้จากราคาข้าวเก่าขณะนี้สูงกว่าข้าวใหม่ ทั้งข้าวหอมมะลิและข้าวขาว ซึ่งข้าวหอมมะลิเก่าราคากิโลกรัม (กก.) ละ 32 บาท ข้าวหอมมะลิใหม่ราคากก.ละ 28 บาท ข้าวขาวเก่าราคากก.ละ 13.50 บาท ข้าวขาวใหม่ราคากก.ละ 12.50 บาท อีกทั้งราคาข้าวในขณะนี้ก็สูงกว่าต้นปี ซึ่งอยู่ที่กก.ละ 8-9 บาท และข้าวในสต๊อกรัฐบาลเป็นข้าวที่มีอายุ 1-2 ปี ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ประกอบกับการที่ข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูกาลนาปี น่าจะออกมาหมดแล้ว จึงเป็นโอกาสที่จะนำข้าวออกมาขาย
นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการระบายข้าวให้ได้เร็วขึ้น นอกจากการจัดเกรดคุณภาพข้าวที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแล้ว อีกแนวทางคือ ในการเปิดประมูลข้าว กระทรวงพาณิชย์ควรมีการกำหนดราคาให้ชัดเจน ว่าต้องการขายในราคาเท่าใด เพื่อที่ภาคเอกชนจะได้รู้ความต้องการที่แน่ชัด และแนวทางการระบายข้าว 3 ครั้งที่ผ่านมา ก็เห็นแล้วว่าการกำหนดที่ราคาอ้างอิงพื้นฐาน (ฟลอร์ ไพร้ซ์) ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก โดยการระบายแต่ละครั้ง ทำได้น้อยมาก และที่สำคัญในขั้นตอนหลังการประมูล ควรเร่งดำเนินการให้เร็วกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากในการประมูลครั้งก่อนๆ ค่อนข้างล่าช้า โดยเฉพาะในขั้นตอนอนุมัติ และการไปรับข้าวออกจากโกดัง ที่ใช้เวลาเป็นเดือน