- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 16 December 2014 09:22
- Hits: 1976
พาณิชย์ โชว์ยุทธศาสตร์การค้าไทยในเออีซี ดึงเอกชนร่วมเป็นหุ้นส่วนขับเคลื่อน
แนวหน้า : นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยถึงยุทธศาสตร์การค้าหลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 และความร่วมมือทางการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ในงานสัมมนาเรื่อง “ยุทธศาสตร์การค้าหลัง AEC 2015 และการสร้าง Regional Value Chainของไทย” ว่า การเข้าสู่เออีซีถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มีนโยบายและได้ดำเนินนโยบายที่ถือว่าอยู่ใต้กลุ่มยุทธศาสตร์เร่งด่วน ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเข้าสู่เออีซี
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าได้เริ่มงานไปมากแล้ว ซึ่งงานที่กระทรวง เน้นทำในปี 2558 จะทำเพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนายกระดับขีดความสามารถของไทย และใช้โอกาสจากความเปลี่ยนแปลงในเวทีการค้า ทั้งเรื่องการส่งออกและการเข้าสู่เออีซี ควบคู่ไปกับการดูแลความกินอยู่ที่ดีของประชาชน คือการบริหารพัฒนาสินค้าเกษตรเชิงรุก และการดูแลเรื่องค่าครองชีพเพื่อประชาชน
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เออีซีของไทย โดยเสนอให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนใน 3 เรื่อง คือ หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและการค้าชายแดน, หุ้นส่วนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย และหุ้นส่วนเพื่อการขับเคลื่อนการค้าสู่เวทีโลก โดยใช้เออีซีเป็นฐานในการผลิต
ในขณะเดียวกันรัฐบาลยังจะใช้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและการค้าชายแดน เป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษจะถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางและตัวเร่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค รัฐบาลจึงได้ลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์ที่สำคัญ คือการพัฒนารถไฟรางคู่ เพื่อเชื่อมโยงขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ทั้งภายในประเทศและการเชื่อมต่อกับอาเซียนอย่างบูรณาการ เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์จาก 15% ต่อจีดีพี ภายในปี 2565 โดยใช้งบประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงไปสู่จีน ,อินเดีย และทวีปเอเชียโดยรวม
นางอภิรดีกล่าวว่า ปัจจุบันการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย เมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา มีมูลค่ากว่า 720,000 ล้านบาท โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าชายแดนได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงกว่า 10% ต่อปี ซึ่งการค้าชายแดนมีสัดส่วน 4-5% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของไทย แต่ก็มีแนวโน้มและศักยภาพในการเติบโต ซึ่งกระทรวงฯได้ตั้งเป้าหมายผลักดันการค้าชายแดนให้มีมูลค่าสูงถึง 1.5 ล้านบาท จากปี 2557 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะทำให้การดำเนินยุทธศาสตร์บรรลุผล จะต้องมีการพัฒนาเมืองหลักของทั้ง 2 ฝ่ายชายแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้านไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้พื้นที่โดยรอบของทั้ง 2 ฝั่งเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออก จากตลาดหลักมาสู่ตลาดอาเซียน จะทำให้ไทยมีศักยภาพในการผลิตและกระจายตลาดส่งออกสู่ตลาดโลก เพื่อลดความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น โดยใช้อาเซียนเป็นฐานการผลิต