- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 16 December 2014 09:21
- Hits: 2255
พาณิชย์ เผย ไทยพร้อมเข้าสู่ AEC ปีหน้า ชู ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการค้าชายแดน ตั้งเป้ามูลค่าการค้าแตะ 1.5 ล้านลบ. ในปีหน้า
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถา ในงานสัมมนาเรื่อง "ยุทธศาสตร์การค้าหลัง AEC 2015 และการสร้าง Regional Value Chain ของไทย" ว่า ขอชื่นชมสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยที่ได้ร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดงานสัมมนาในวันนี้ขึ้น การเข้าสู่ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ AEC อย่างเต็มรูปแบบในปีหน้า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพใน AEC สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ถือเป็นองค์กรสำคัญที่มีส่วนในการขับเคลื่อนการส่งออกซึ่งเป็นกลจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศในห้วงเวลาเกือบ 21 ปีที่ผ่านมาและอาจถือได้ว่าเป็นองค์กรพี่น้องกับ ASEANได้เพราะเกิดช้ากว่ากันเพียงปีเดียว เป็น 2 องค์กรที่เติบโตมาพร้อมๆ กัน และจะยังคงมีบทบาทที่สำคัญต่อไป
1. AEC กับนโยบายรัฐบาลนี้ และยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์
เรื่องการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเสาเศรษฐกิจ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลนี้ จากการแถลงนโยบายพัฒนาและบริหารประเทศของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ได้ให้ความสำคัญกับ “การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน” เป็นนโยบายสำคัญข้อที่ 7 จากการแถลงนโยบาย 11 ข้อ ภายใต้นโยบายการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น รัฐบาลได้แถลงรายละเอียดการดำเนินนโยบายแยกย่อยอีกเป็น 6 หัวข้อได้แก่
1) เร่งส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน
2) พัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยทุกระดับ โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย
3) พัฒนาแรงงานของภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งแรงงานวิชาชีพ แรงงานมีทักษะ และแรงงานไม่มีทักษะ
4) เร่งพัฒนาความเชื่องโยงด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน และเร่งขับเคลื่อนแผนงานการพัฒนาความรวมมือในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน
5) ต่อเชื่อมเส้นทางคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์จากฐานการผลิตในชุมชนสู่แหล่งแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าทั้งภายในประเทศและเชื่อมโยงกับอาเซียน
6) พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยเริ่มจากการพัฒนาด่านการค้าชายแดนและโครงข่ายการคมนาคมขนส่งบริเวณประตูการค้าหลักของประเทศเพื่อรองรับการเชื่อมโยงกระบวนการผลิตและการลงทุนข้ามแดน
ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เองก็ได้มีนโยบายและได้ดำเนินนโยบายที่ถือว่าอยู่ใต้กลุ่มยุทธศาสตร์เร่งด่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าเราได้เริ่มงานไปมากแล้วขณะเดียวกัน ก็เป็นห้วงเวลา “จัดบ้าน” ให้เข้าที่ ปีหน้า 2558 ถือเป็นเวลาที่ประเทศไทยจะต้องขับเคลื่อน มิฉะนั้นจะพลาดโอกาสหรืออาจจะรับมือกับความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายภาคส่วน เราจึงได้สรุปงานที่เราจะเน้นในปีหน้าเป็นดังนี้
1) เพื่อตอบโจทย์การพัฒนายกระดับขีดความสามารถของประเทศไทย และใช้โอกาสจากความเปลี่ยนแปลงในเวทีการค้า 2 ยุทธศาสตร์หลักที่กระทรวงพาณิชย์จะใช้ขับเคลื่อน ได้แก่: เรื่องการส่งออก เรื่องการเข้าสู่ ASEAN
2) เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจภายในควบคู่ไปกับดูแลความกินอยู่ที่ดีของประชาชน ผู้บริโภค 2 ยุทธศาสตร์หลักที่ที่กระทรวงพาณิชย์จะใช้ขับเคลื่อน ได้แก่
การบริหารพัฒนาสินค้าเกษตรเชิงรุก
การดูแลเรื่องค่าครองชีพเพื่อประชาชน
ท่านจะเห็นว่า ยุทธศาสตร์เรื่องการเข้าสู่อาเซียนถือเป็นกลุ่มยุทธศาสตร์สำคัญของเรางานทั้งหมดนี้ดิฉันขอเน้นย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์จะทำงานเชื่อมโยงกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐอื่น และกับภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ ที่เราได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อสานต่อสิ่งที่ได้เริ่มไว้ใน 3 เดือน ที่ผ่านมา และจะหารือร่วมกันถึงการดำเนินยุทธศาสตร์ที่กระทรวงจะใช้ในปี 2558 อย่างสม่ำเสมอ
2. ยุทธศาตร์การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของกระทรวงพาณิชย์
สำหรับ ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของกระทรวงพาณิชย์นั้นเราแบ่งการขับเคลื่อนออกเป็น 3 ด้านหลัก
1) เร่งใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ผ่านยุทธศาตร์การส่งเสริมการค้าชายแดน และค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเน้นการผลักดัน Investment for Trade และการพัฒนาเมืองหน้าด่านเมืองคู่แฝด และเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ
2) เร่งสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจผลักดันยุทธศาสตร์กลุ่มธุรกิจเชื่อมโยง (Cluster Driven) โดยจะอาศัยกลุ่มธุรกิจใหญ่ร่วมมือเปิดทาง SME ที่เป็นคู่ค้า เข้าสู่ตลาด ASEAN และตลาดใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กัน โดยเบื้องต้นได้มีการหารือกับกลุ่มผู้ผลิต และผู้ประกอบการค้าปลีกบางรายเพื่อเริ่มดำเนินการแล้ว
3) ผลักดันให้เกิดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ไทยน่าดึงดูดเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนใน ASEAN (โดยเร่งปรับปรุงเรื่องEase of Doing Businessเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และเร่งปฏิรูปโครงสร้างการผลิตและการค้า)
เรื่องการค้าชายแดนและการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราให้ความสำคัญกับตลาดใกล้ตัวก่อนคือการมองตลาดการค้าชายแดน และการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเรามีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์อยู่ ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญแรกของเราจะเป็นเรื่อง Investment For Trade หรือการลงทุนเพื่อกระตุ้นการค้าหมายถึงไม่เพียงแต่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่เราจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อกระตุ้นให้เกิดการค้าระหว่างกันในระยะยาว และเป้าหมายสำคัญประการที่สองของเราคือการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมืองหน้าด่าน และเมืองคู่แฝด เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโตด้านการค้าการลงทุนระยะยาว ที่รัฐบาลไทยได้กำหนดแล้ว
" มีความประสงค์ที่จะเห็นการขยายตัวของการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในประเทศเพื่อนบ้านขยายตัวขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่ไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากปัจจัยการผลิต และทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเพื่อนบ้าน สาขาบริการ เช่นท่องเที่ยว Hospitality Real Estate ก่อสร้าง และแม้กระทั่งการลงทุนขนาดในสาธารณูปโภคพื้นฐาน และเราคาดหวังว่ามูลค่าการค้าชายแดน และผ่านแดนจะขยายตัวจากประมาณ 1 ล้านล้านบาทในปีนี้ เป็น 1.5 ล้านล้านบาทในปีหน้า "
เราได้จัดทำยุทธศาสตร์การค้าชายแดนและค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และจัดตั้งคณะทำงานร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเครื่องยนต์เศรษฐกิจนี้แล้ว นอกจากนี้เรายังพร้อมดำเนินการเชิงรุก ภายใต้กรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น เช่น WGTI, GMS, CBTA, ACMECS, IMT-GTและทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวก และแก้ปัญหาการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเต็มที่ ในช่วง 3 เดือนมีการจัดกิจกรรมมหกรรมการค้าชายแดนเพื่อสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการค้าระหว่างภาครัฐและเอกชนในระดับพื้นที่ชายแดน และใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการนำคณะผู้แทนการค้าไปเจรจาธุรกิจการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสม่ำเสมอ และจะมีต่อไป
เรื่องการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจ
สำหรับ การผลักดันเรื่องของความสามารถทางการแข่งขันระดับผู้ประกอบการ กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการพัฒนา SME ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และในตลาดอาเซียนโดยเราจะผลักดันยุทธศาสตร์กลุ่มธุรกิจเชื่อมโยง (Cluster Driven) โดยจะอาศัยกลุ่มธุรกิจใหญ่ร่วมมือเปิดทางให้ SME ที่เป็นคู่ค้าเข้าสู่ตลาด ASEAN และตลาดใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กัน โดยเบื้องต้นได้มีการหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิต และผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่ในการดำเนินการแล้ว
ยุทธศาสตร์ในการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจประกอบด้วยกลยุทธ์หลัก 4 ด้านได้แก่
1) พัฒนาระบบการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจเช่น พัฒนาระบบการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (MOC Single Point Service), ให้บริการรับงบการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing)ลดต้นทุนทางการเงินเช่นค่าธรรมเนียมต่างๆ แก่ผู้ประกอบการ
2) สร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เช่น ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวโน้มสำคัญๆ ของโลก และของผู้บริโภค สร้างนักธุรกิจมืออาชีพและพัฒนาสู่ AECสร้างนักบัญชีคุณภาพรุ่นใหม่ จัดทำและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สมาคมการค้า
3) สร้างระบบการบริหารจัดการเช่น ยกระดับธุรกิจบริการเป้าหมายสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการ/ISO/DBD Verifiedโดยมีธุรกิจบริการเป้าหมาย ได้แก่ แฟรนไชส์ ค้าส่งค้าปลีก ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว บริการเกี่ยวกับสุขภาพ e-Commerce ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจครอบครัวเป็นธุรกิจที่บริหารโดยมืออาชีพ
4) ส่งเสริมให้มีการนำดิจิตัลเทคโนโลยีมาใช้ประกอบธุรกิจและสร้างช่องทางขายใหม่ๆ เช่นสร้างโอกาสการตลาดออนไลน์ และขยายเครือข่ายทางธุรกิจ มีการกระตุ้นให้ผู้ค้าออนไลน์จดทะเบียน e-Commerce ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนเข้าสู่ช่องทางการตลาดออนไลน์ จัดมกรรมลดราคาสินค้าและบริการทางออนไลน์
นอกจากยุทธศาสตร์ข้างต้น ทางกระทรวงกำลังดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาว เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศโดยมีแผนปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อวางรากฐานในระยะยาว สู่สังคมที่มีโครงสร้างการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง สู่ภาคบริการ และสู่Trading Nation
เรื่องการผลักดันให้เกิดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ไทยน่าดึงดูดจนเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนใน ASEAN
จากการประกาศผลการจัดอันดับ Ease of Doing Business เป็นดัชนีตัวชี้วัดความยากง่ายในการประกอบธุรกิจในแต่ละประเทศ จัดทำขึ้นโดยธนาคารโลก (World Bank) ของปี 2015 นี้ประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 26 ของโลกตกลงจากปี 2014 ที่เคยอยู่อันดับที่ 18 ของโลก และอยู่หลังประเทศเพื่อนบ้านใน ASEAN เช่น สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเร่งปรับปรุงการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจตลอดวงจรชีวิตของธุรกิจ (Ease of Doing Business) และปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยอย่างต่อเนื่องและจะต้องมีการปฏิรูปอย่างเต็มรูปแบบ
ที่ผ่านมาเราได้ได้ดำเนินการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยพัฒนาระบบ e-Registration ระบบ e-filing ระบบ MOC Single Point Service ปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยและเอื้อต่อศักยภาพในการแข่งขัน (อยู่ในขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ 5 ฉบับ ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา 7 ฉบับ เสนอเข้าครม 2 ฉบับ อยู่ระหว่างยกร่าง 5 ฉบับ ตลอดจนพัฒนาระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ลดระยะเวลาการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายทางการค้า
3. ขับเคลื่อนPost AEC 2015ผ่านโมเดล“หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” 3 เรื่อง
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Post AEC 2015ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงพาณิชย์ขอเสนอให้ภาคเอกชนมาร่วมเป็นหุ้นส่วน (Partner) ใน 3 เรื่องสำคัญ ดังต่อไปนี้
หุ้นส่วนที่ 1
ตลาดภายในประเทศที่เชื่อมโยงกับตลาดประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนกระทรวงพาณิชย์จึงขอเสนอ หุ้นส่วนที่ 1 ซึ่งได้แก่ หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและการค้าชายแดน รัฐบาลจะใช้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและการค้าชายแดนให้เป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษจะถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางเป็นตัวเร่งความเจริญเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคและเพื่อให้ภาพยุทธศาสตร์นี้ครบถ้วน รัฐบาลจึงจะดำเนินการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและลอจิสติกส์ของประเทศควบคู่กันไป เพื่อเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษและหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศ รวมถึงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมที่สำคัญคือ การพัฒนารถไฟทางคู่ และส่งเสริมการเชื่อมต่อขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-Modal) ทั้งภายในประเทศและการเชื่อมต่อกับอาเซียนและเอเชีย พร้อมกับการปรับปรุงระบบลอจิสติกส์อย่างบูรณาการเพื่อลดต้นทุนลอจิสติกส์จาก 15% ต่อ GDP เหลือ 13% ต่อ GDP ภายในปี 2565 การลงทุนดังกล่าวจะใช้งบประมาณราว 3 ล้านล้านบาท เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค การเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมดังกล่าว จะช่วยเชื่อมโยงศูนย์กลางความเจริญในแต่ละพื้นที่ประเทศไทย และจะเชื่อมต่อกับเมืองศูนย์กลางในประเทศเพื่อนบ้านต่อเนื่องถึงประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีกด้วย ซึ่งหากเราสามารถดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผลได้ ก็จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการพลิกโฉมประเทศไทยให้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของการค้าการลงทุนและการขนส่งในASEANสามารถเชื่อมโยงไปสู่จีน และอินเดีย และทวีปเอเชียโดยรวม
ทุกวันนี้ การค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย เมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา มีมูลค่ากว่า 720,000 ล้านบาทโดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าชายแดนได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงกว่า 10% ต่อปี และถึงแม้ว่าการค้าชายแดนจะยังคงมีสัดส่วนราว 4-5% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของไทย แต่จากแนวโน้มและศักยภาพการเติบโต ดิฉันมั่นใจว่าการค้าชายแดนจะเป็นเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม การดำเนินยุทธศาสตร์นี้จะบรรลุผลได้อย่างแท้จริง จะต้องได้รับความร่วมมือและการประสานงานกับภาคเอกชนในการกำหนดแผนพัฒนาเมืองและพื้นที่อย่างเป็นระบบ โดยไม่เพียงมุ่งหวังจะขยายปริมาณการค้าเท่านั้น แต่มีเป้าหมายที่จะผลักดันการพัฒนาเมืองหลักของทั้งสองฝั่งชายแดนไทยและเพื่อนบ้านไปพร้อมกัน ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่โดยรอบของสองฝั่งรวมถึงการค้าการลงทุนเจริญเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน เรากำลังชวนท่านไปค้า และลงทุน ณ เมืองหน้าด่าน เขตเศรษฐกิจพิเศษ และในประเทศเพื่อนบ้านด้วยกัน
หุ้นส่วนที่ 2
หุ้นส่วนที่สอง ได้แก่ หุ้นส่วนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยเพื่อคว้าโอกาสที่มาพร้อมกับAECไทยกำลังอยู่ในช่วงของการปรับโครงสร้างการส่งออกมาสู่อาเซียนและเอเชียมากยิ่งขึ้น โดย ASEAN ได้กลายเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของประเทศไทยโดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 26 ของมูลค่าการส่งออกรวม
กระทรวงพาณิชย์ขอเสนอให้พวกเราจับมือเป็นหุ้นส่วนเพื่อเกื้อหนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบ ซึ่งครอบคลุมถึงการบริหารจัดการสมัยใหม่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างตราสินค้า และการสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ อันเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) รวมถึงการสร้างกลุ่มเชื่อมโยงแบบคลัสเตอร์ระหว่างผู้ประกอบการขนาดใหญ่กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ตามกลุ่มธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าเพื่อให้ผู้ประกอบการในคลัสเตอร์นั้นๆ สามารถก้าวสู่เวทีการแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข็มแข็ง
หุ้นส่วนที่สาม
ส่วนที่สำคัญซึ่งเราจะละเลยไปไม่ได้ก็คือตลาดโลก ดิฉันจึงขอเสนอหุ้นส่วนที่ 3 อันได้แก่ หุ้นส่วนเพื่อการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศสู่เวทีโลก โดยใช้ ASEAN เป็นฐานการผลิตการค้าระหว่างประเทศและการส่งออกถือเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยมีสัดส่วน 70% ของรายได้ของประเทศ โครงสร้างการส่งออกมีการเปลี่ยนแปลงจากตลาดหลักเดิม เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มาสู่ตลาดเอเชียมากยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบัน ตลาดเอเชียถือเป็นตลาดหลักที่มีศักยภาพของใหม่ มีสัดส่วนกว่า 50% ของตลาดส่งออกไทย ปัจจุบัน ประเทศไทยได้กระจายตลาดส่งออกเพื่อลดความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น โดยมีตลาดใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา รัสเซีย และแคนาดา
ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกำหนดสินค้าที่เรามีศักยภาพในการผลิต และการเดินหน้าเปิดตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าไทย รวมถึงการรักษาตลาดหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ EU ญี่ปุ่น และอาเซียน จึงยังคงเป็นภารกิจที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องเดินหน้าต่อไป การมุ่งสู่ตลาดโลกโดยมี ASEAN เป็นฐานการผลิตอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ สำหรับประเด็นของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว ดิฉันขอเชิญท่านผู้ประกอบการภาคเอกชนทุกท่านร่วมกันเสนอแนวทางการปฏิรูปในระยะยาว ระยะยาว เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศโดย ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการบูรณาการแผนปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อวางรากฐานในระยะยาว สู่สังคมที่มีโครงสร้างการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง สู่ภาคบริการ และสู่ Trading Nation
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย