- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 30 December 2022 20:07
- Hits: 2400
กรมเจรจาฯ เผย 11 เดือน ไทยส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูปไปคู่ FTA เพิ่ม 21%
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศติดตามสถิติส่งออกสินค้าผลไม้กระป๋องและแปรรูปในช่วง 11 เดือนปี 65 ทำมูลค่า 1,831 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 9% เป็นการส่งออกไปยังประเทศที่ไทยมี FTA ถึง 583 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 21% ขยายตัวทั้งในอาเซียน จีน ออสเตรเลีย อินเดีย เกาหลีใต้ ระบุคู่ FTA ลดภาษีนำเข้าให้ไทยแล้ว เหลือแค่ 5 ประเทศที่ยังเก็บภาษีนำเข้าบางชนิด แต่ใน RCEP ไทยสามารถเจรจาให้ลดภาษีเพิ่มได้หลายรายการ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศ ในช่วง 11 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) ไทยส่งออกสินค้าผลไม้กระป๋องและแปรรูป มูลค่า 1,831 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 9% โดยประเทศคู่ค้าสำคัญที่การส่งออกเติบโตดี ได้แก่ สหรัฐฯ เพิ่ม 4% สภาพยุโรป เพิ่ม 13% อาเซียน เพิ่ม 18% และจีน เพิ่ม 70% และเมื่อพิจารณารายกลุ่มสินค้า พบว่า น้ำผลไม้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไทยส่งออกมากที่สุด มูลค่าถึง 684 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 18% ผลไม้แปรรูป มูลค่า 651 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 2% และผลไม้กระป๋อง มูลค่า 495 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 9%
ทั้งนี้ หากดูสถิติการส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูป ไปตลาดคู่ FTA ของไทย ในช่วง 11 เดือน มีมูลค่า 583 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 21% โดยตลาดคู่ FTA ที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น กัมพูชา เพิ่ม 22% เมียนมา เพิ่ม 27% มาเลเซีย เพิ่ม 16% เวียดนาม เพิ่ม 49% จีน เพิ่ม 70% ออสเตรเลีย เพิ่ม 7% อินเดีย เพิ่ม 21% เกาหลีใต้ เพิ่ม 7% และสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำผลไม้ มูลค่า 275 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 30% ผลไม้แปรรูป มูลค่า 203 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 12% และผลไม้กระป๋อง มูลค่า 105 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 20%
นางอรมน กล่าวว่า ปัจจุบันคู่ค้า FTA ของไทย ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ได้ยกเลิกภาษีนำเข้าให้กับสินค้าผลไม้กระป๋องและแปรรูปทุกรายการจากไทยแล้ว เหลือเพียง 5 ประเทศ ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ คือ จีน เก็บภาษีสับปะรดกระป๋อง ลำไยกระป๋อง และน้ำสับปะรด อัตรา 5% ญี่ปุ่น เก็บภาษีสับปะรดกระป๋อง อัตรา 25.5–46.8% น้ำสับปะรด อัตรา 19.1–29.8% และผลไม้ตระกูลส้มแปรรูป อัตรา 2.7–9.3% เกาหลีใต้ เก็บภาษีสับปะรดเชื่อม อัตรา 24% และแยมผลไม้ อัตรา 5–24% อินเดีย เก็บภาษีผลไม้แปรรูป อาทิ ส้ม แพร เชอรี่ มะม่วง สับปะรด อัตรา 30% และเปรู เก็บภาษีผลไม้แช่อิ่มและน้ำผลไม้ อัตรา 6%
สำหรับ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ไทยสามารถผลักดันให้ประเทศคู่ FTA ลดภาษีนำเข้าสินค้าผลไม้กระป๋องและแปรรูปเพิ่มเติม เช่น ญี่ปุ่น ทยอยลดภาษีสินค้าน้ำมะเขือเทศที่มีน้ำตาล แยม เยลลี่ผลไม้ที่มีเนื้อเดียวกัน แยมผลไม้ตระกูลส้มที่มีน้ำตาล ผลไม้เพียวเร่ ส้มแปรรูปที่มีเนื้อส้ม พีชแปรรูป สตรอว์เบอร์รี่แปรรูป เหลือ 0% ในปี 2580 จีน ทยอยลดภาษีสินค้าสับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด น้ำมะพร้าว เหลือ 0% ในปี 2584 และเกาหลีใต้ ทยอยลดภาษีน้ำสับปะรด สับปะรดกระป๋อง สับปะรดเชื่อม เหลือ 0% ในปี 2574 และน้ำแครนเบอร์รี่ เหลือ 0% ในปี 2579
“ตลาดผลไม้กระป๋องและแปรรูปมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องตามกระแสการรักษาสุขภาพ ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคสมัยใหม่ที่ต้องการผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่มีความสะดวกในการดำเนินชีวิตมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะตลาดที่ไทยมีความตกลง FTA ซึ่งจะได้แต้มต่อจากการปลดล็อกกำแพงภาษีนำเข้า”นางอรมนกล่าว
ปัจจุบัน ไทยครองตำแหน่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าผลไม้กระป๋องและแปรรูป อันดับที่ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ