WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

กรมเจรจาฯ เผยอียูจ่อเคาะมาตรการปรับคาร์บอน 15 ธ.ค.นี้ เตือนผู้ส่งออกเตรียมรับมือ

     กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแจ้งความคืบหน้าการออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของอียู คาดวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ได้ข้อสรุปรายละเอียดของกฎหมายทั้งหมด แนะผู้ส่งออกไทยเตรียมความพร้อมรับมือ โดยเฉพาะรายการสินค้าที่เคยกำหนดไว้ และปรับกระบวนการผลิตให้ปล่อยคาร์บอนต่ำ เผยล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผนึกกำลังเตรียมความพร้อมแล้ว

      นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของสหภาพยุโรป (อียู) ว่า ขณะนี้กระบวนการออกกฎหมายได้เข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาหารือ 3 ฝ่าย (trilogue) ระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรป (องค์กรฝ่ายบริหารของอียู) รัฐสภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ซึ่งแต่ละฝ่ายยังมีความเห็นไม่ตรงกัน โดยรัฐสภาอียูต้องการขยายขอบเขตสินค้าให้กว้างขึ้น

โดยเพิ่มไฮโดรเจน เคมีภัณฑ์ และพลาสติก และขยายระยะเวลาของช่วงเปลี่ยนผ่านเป็น 4 ปี (ปี 2566–2569) ขณะที่คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปต้องการให้คงไว้แค่กลุ่มสินค้า 5 ประเภทก่อน และให้ยกเว้นการบังคับใช้กับการนำเข้าสินค้าในมูลค่าไม่เกิน 150 ยูโร รวมถึงให้คงระยะเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านเป็น 3 ปี เหมือนข้อเสนอเดิมของคณะกรรมาธิการฯ และจากการติดตามความคืบหน้า พบว่า อียูจะมีการประชุม trilogue ครั้งสำคัญ ในวันที่ 15 ธ.ค.2565 คาดว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับรายละเอียดของกฎหมาย CBAM ต่อไป

       สำหรับ การออกมาตรการ CBAM  คณะกรรมาธิการยุโรป ได้เผยแพร่ร่างกฎหมาย CBAM เมื่อเดือน ก.ค.2564 มีสาระสำคัญให้ผู้นำเข้าสินค้ามาในอียูแจ้งปริมาณสินค้าที่นำเข้าในรอบหนึ่งปีก่อนหน้า และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้านั้น รวมทั้งต้องซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งราคาใบรับรอง อ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของอียู (EU Emission Trading Scheme : EU-ETS) (ราคาเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2565 อยู่ที่ประมาณ 85 ยูโรต่อ 1 ตันคาร์บอน) โดยจะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 กับสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้า โดยในอนาคตอาจขยายมาตรการให้ครอบคลุมสินค้าประเภทอื่นด้วย

      ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีแรก (ปี 2566–2568) จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยผู้นำเข้ามีหน้าที่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2569 เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องซื้อและส่งมอบใบรับรอง CBAM ประกอบการนำเข้าด้วย

            “แม้ว่าปัจจุบัน อียูยังไม่ได้ข้อสรุปในรายละเอียดของมาตรการ CBAM แต่ขอให้ผู้ส่งออกไทยติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือเกี่ยวกับรายการสินค้าที่คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอไว้เดิม หรือที่รัฐสภายุโรปต้องการเพิ่ม โดยเฉพาะการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อให้ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งจะนำมารายงานภายใต้มาตรการ CBAM และพิจารณาปรับกระบวนการผลิตให้ปล่อยคาร์บอนต่ำ”นางอรมนกล่าว

            อย่างไรก็ตาม ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ประสานงานกันเพื่อเตรียมความพร้อมให้ไทยมีระบบบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่ดีและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งเตรียมความพร้อมก้าวสู่สังคมและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปล่อยคาร์บอนต่ำได้ต่อไปแล้ว

           

 

สินิตย์ เผยส่งออกอัญมณี 10 เดือน มูลค่า 6,778.55 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 37.38%

            สินิตย์”เผยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 10 เดือน มีมูลค่า 6,778.55 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 37.38% หากรวมทองคำยอดพุ่ง 13,620.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 66.50% คาดแนวโน้มที่เหลือยังขยายตัวได้ดี เหตุเป็นช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ แนะผู้ประกอบการหันเจาะตลาดเกิดใหม่ในเอเชียและตะวันออกกลาง ที่กำลังเติบโตดี และต้องเน้นผลิตสินค้าปกป้องสิ่งแวดล้อม ทำเกรดพรีเมียมตอบสนองลูกค้ากลุ่มบนที่มีกำลังซื้อ

            นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในช่วง 10 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 6,778.55 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 37.38% และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 13,620.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 66.50% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักของโลก และเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอยปลายปี ทั้งคริสต์มาสและปีใหม่ เข้ามากระตุ้นการบริโภค ทำให้มีความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้น

            สำหรับ สินค้าที่มีการส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 5.72% เครื่องประดับทอง เพิ่ม 53.03% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 10.35% เพชรก้อน เพิ่ม 25.85% เพชรเจียระไน เพิ่ม 55.88% พลอยก้อน เพิ่ม 63.04% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 73.76% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 104.46% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 25.19% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำจากโลหะมีค่า เพิ่ม 15.28%

            ทั้งนี้ เฉพาะทองคำ ส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 50.23% ของยอดส่งออกรวม 10 เดือน มีมูลค่า 6,842.31 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 110.74% ซึ่งเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความต้องการของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ แม้ว่าราคาทองคำจะปรับตัวลดลง จากการที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่เชื่อว่าแนวโน้มราคาจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากการที่เฟดชะลอการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง

      ส่วนตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 26.90% อินเดีย เพิ่ม 115.74% ฮ่องกง เพิ่ม 10.12% เยอรมนี เพิ่ม 10.26% สิงคโปร์ เพิ่ม 178.10% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 41.87% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 87.15% เบลเยี่ยม เพิ่ม 36.18% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 39.24% ญี่ปุ่น เพิ่ม 10.90% และอื่น ๆ เพิ่ม 26.95%

     นายสินิตย์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่าจะยังขยายตัว แม้ว่าเริ่มมีสัญญาณการหดตัวของคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้า แต่การเข้าสู่ช่วงเทศกาลปลายปี ทำให้จับจ่ายใช้สอยจะเป็นปัจจัยหนุนทำให้มีการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ แต่ผู้ประกอบการ จะต้องวางแผนขยายตลาดไปยังตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ในเอเชียและตะวันออกกลาง ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ควบคู่ไปกับการรักษาตลาดเดิม และต้องเน้นการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รักษาคุณภาพมาตรฐาน ให้ตรงตามที่ผู้บริโภคต้องการ หรือทำสินค้าเกรดพรีเมียม เพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มบนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจน้อยกว่า

      ในด้านการทำตลาด ควรจะให้มาใช้เทคโนโลยีอย่าง AR หรือ VR นำเสนอสินค้าออนไลน์ เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคได้สัมผัสสินค้าใกล้เคียงความจริง ก่อให้เกิดความประทับใจและสร้างโอกาสในการซื้อได้เร็วขึ้น และต้องหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันไทยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ให้บริการด้านข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ การตรวจสอบ และสร้างมาตรฐาน GIT Standard และบริการด้านการอบรมด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งผู้ประกอบการสามารถใช้บริการได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรม

Click Donate Support Web  

 

EXIM One 720x90 C J

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

PTG 720x100ais 720x100BANPU 720x100TU720x100sme 720x100

QIC 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100px

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!