- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 04 December 2022 17:29
- Hits: 1598
นักออกแบบเฮ! สภาฯ โหวตเห็นชอบไทยเข้าภาคีกรุงเฮก ช่วยยื่นจดคุ้มครองได้เร็วขึ้น
พาณิชย์ เผยรัฐสภาให้ความเห็นชอบไทยเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ คาดช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอน และประหยัดค่าใช้จ่าย เหตุสามารถยื่นเพียงคำขอเดียว แต่เลือกรับคุ้มครองได้ถึง 93 ประเทศทั่วโลก
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2565 รัฐสภาได้เห็นชอบให้ไทยเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้นักออกแบบไทย ขอรับความคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศได้สะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอน และประหยัดค่าใช้จ่าย โดยสามารถยื่นเพียงคำขอเดียวและเลือกรับความคุ้มครองได้ถึง 93 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออกในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ของคนไทย กระตุ้นให้เกิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมทั้งสร้างโอกาสทางการค้าให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และนักออกแบบของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
สำหรับ การเข้าเป็นภาคีดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน (ASEAN IPR Action Plan 2016-2025) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการออกแบบในภูมิภาคอาเซียน โดยไทย ถือได้ว่ามีนักออกแบบที่มีศักยภาพ มีการผลิตผลงานออกแบบที่มีคุณภาพ อีกทั้งให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนผลงานการออกแบบ เพื่อขอรับความคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย โดยมีสถิติการยื่นจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ของคนไทยกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาสูงถึง 3,500 คำขอต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 70% ของคำขอที่ยื่นทั้งหมด
“การเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮก จึงนำมาซึ่งโอกาสของนักสร้างสรรค์ไทย ที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญได้อย่างมั่นใจ กระตุ้นการส่งออก และสร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมด้านการออกแบบของไทยในเวทีโลก”นายสินิตย์กล่าว
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า หลังจากนี้ กรมฯ จะเดินหน้าภารกิจเพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีดังกล่าว ทั้งในด้านการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับภาคเอกชนและภาคประชาชนให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเข้าร่วมภาคี รวมไปถึงการแก้ไขพ.ร.บ.สิทธิบัตร และการตรากฎหมายอนุบัญญัติ เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติให้คนไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้าเป็นภาคีความตกลงฉบับนี้