- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 04 December 2022 15:51
- Hits: 1728
จุรินทร์ ย้ำไทยมีแผนรับมือ 4 วิกฤต โควิด-19 ปัญหาขัดแย้ง กีดกันการค้า เศรษฐกิจโลกชะลอ
จุรินทร์ ประเมินสถานการณ์โลก ยังต้องเผชิญวิกฤต 4 เรื่องหลัก โควิด-19 ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การกีดกันทางการค้า และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ย้ำไทยมีแผนรับมือทุกเรื่อง ทั้งโควิด-19 การแบ่งขั้ว แบ่งค่าย ระหว่างยักษ์ใหญ่ ‘รัสเซีย-ยุโรป และสหรัฐฯ-จีน’ รับมือการกีดกันทางการค้า และร่วมมือเอกชนผลักดันส่งออก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Enhancing Trade Facilitation for Thailand Competitiveness : เปิดการค้าไทย มิติใหม่สู่สากล” เมื่อช่วงค่ำวันที่ 26 พ.ย.2565 ในรูปแบบออนไลน์ ในช่วงการจัดงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่า ปัจจุบันยอมรับความจริงว่าโลกและไทย ยังเผชิญปัญหาและสิ่งท้าทาย อย่างน้อย 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ปัญหาโควิด-19 2.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ 3.ปัญหาการกีดกันทางการค้า และ 4.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จำเป็นต้องจะฝ่าฟันและทำแผนรับมือเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อไปให้ได้
ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องโควิด-19 จากการติดตามสถานการณ์ จะยังต้องอยู่กับเราต่อไป ไม่มีใครสรุปได้ว่าจบเมื่อไร ซึ่งปัจจุบันไทยมีแผนรับมือพร้อมอยู่แล้ว
สำหรับ เรื่องปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เชื่อว่าจากนี้จะร้อนแรงขึ้น คือ การเอาการเมืองกับเศรษฐกิจมารวมกัน แบ่งขั้วแบ่งค่าย บังคับให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเลือกข้าง ทำให้เกิดมวยยักษ์สองคู่ คือ รัสเซีย-ยุโรป เป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เกิดวิกฤติอาหาร-พลังงาน และสหรัฐฯ-จีน ในทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทาน วัตถุดิบในการผลิตสินค้าหลายตัวทั้งโลกทั้งห่วงโซ่อาหาร เซมิคอนดักเตอร์ ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
“มีการตั้งวงหาพวก จีนมีวง RCEP ที่เป็นวงใหญ่ สหรัฐฯ เคยใช้วง CPTPP ต่อมาถอนตัวและมาตั้งวงใหม่ คือ อินโด-แปซิฟิก ตอนคิดว่าวง CPTPP มีแนวโน้มที่สหรัฐฯ จะทิ้งวงนี้ และวงใหม่จะทวีความสำคัญขึ้น เป็นโจทก์ว่าต้องทำอย่างไร แต่ประเทศไทยยังอยู่ทั้ง 2 วง ทั้ง RCEP ที่ตนเคยเป็นประธานในที่ประชุมจนประสบความสำเร็จ และวงของสหรัฐฯ อินโด-แปซิฟิก ล่าสุดไทยประกาศเข้าร่วม ซึ่งไทยต้องแสดงจุดยืนให้มีความชัดเจนว่าจะใช้ภูมิรัฐศาสตร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับไทยอย่างไร อย่างน้อยอยู่ในวงอาเซียน ต้องจับมือกับอาเซียนให้แน่นหนา เข้มแข็ง และใช้ทั้ง 2 วง เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดกับประเทศของไทยในทางเศรษฐกิจ”นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องการกีดกันทางการค้า จะมีรูปแบบใหม่เข้ามามากขึ้นในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษีและไม่ใช่ประเด็นเดิม คิดว่าทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมรับมือ ในการประชุมเอเปก มีสัญญาณที่ดีหลายเรื่องในหลายประเด็น เช่น เห็นพ้องว่าควรใช้เวทีพหุภาคีเป็นเวทีขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปก เพื่อไม่ให้ประเทศเล็กเสียเปรียบประเทศใหญ่ และเอเปกยอมรับการขับเคลื่อน BCG Model ยอมรับธีม Open. Connect. Balance. ของประเทศไทย และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี ที่ประชุมเอเปกพูดถึงเรื่องนี้เยอะ และให้ความสำคัญกับสตรีรวมทั้งกลุ่มเปราะบาง เข้ามามีโอกาสและบทบาททางเศรษฐกิจการค้าการท่องเที่ยวของกลุ่มสมาชิกเอเปมากขึ้น
“ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ การขับเคลื่อนให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจแบบยั่งยืน เพราะเป็นเหรียญสองด้าน มีหลายเรื่องที่เป็นประเด็นผูกกับการค้าเศรษฐกิจและการลงทุน และขับเคลื่อนใน WTO ที่จะเป็นกติกาโลกต่อไปในอนาคต ซึ่งด้านบวกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของโลกในอนาคต แต่อีกด้านอาจเป็นการนำเรื่องนี้ เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในอนาคตได้ เราต้องเตรียมรับมือ เช่น การใช้มาตรการทางคาร์บอน เป็นต้น”
สำหรับ ประเด็นสุดท้าย ที่ตนเป็นห่วง คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยปี 2564 เศรษฐกิจโลก เพิ่ม 6% แต่ปีนี้แนวโน้มจะเหลือแค่ 3.2% และปีหน้าจะเหลือแค่ 2.7% โดยประมาณ สะท้อนให้เห็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกลดลง อาจกระทบตัวเลขทั้งการลงทุน การค้า การส่งออก และการท่องเที่ยว ต้องเร่งจากมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนแก้ไขปัญหานี้ต่อไปในอนาคต โดยมีหลักว่าอะไรที่เกินกำลัง ต้องเว้นไว้ก่อน เช่น สั่งให้ 2 ประเทศหยุดทำสงครามไม่ได้ ต้องเผชิญหน้ากับมัน แต่อะไรที่เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ ต้องเร่งทำ โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออก ที่ได้ร่วมมือกับเอกชนทำงานอย่างเต็มที่ รวมทั้งเปิดกว้างให้เอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน มีโอกาสร่วมเปิดตลาดทำตัวเลขการส่งออกด้วย