- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 04 December 2022 14:22
- Hits: 1317
กรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยโฉม 8 สินค้า GI ทำเมนูอาหาร-ของที่ระลึกผู้นำเอเปก
กรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยโฉมหน้า 8 สินค้า GI ที่ถูกคัดมาทำเป็น 'เมนูอาหาร' และ 'ของที่ระลึก” ต้อนรับผู้นำเอเปก มั่นใจช่วยตันซอฟต์ พาวเวอร์ของไทย ออกสู่สายตาชาวโลก และสร้างโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และเพิ่มรายได้ให้ชุมชนมากขึ้น
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ใช้โอกาสในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเอเปก ในการเผยแพร่อัตลักษณ์และคุณภาพของสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลได้คัดเลือกสินค้า GI จำนวน 8 รายการ เข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมดังกล่าว เพื่อนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านเมนูอาหารที่ทำจากวัตถุดิบ GI และของที่ระลึกที่ทำจากสินค้า GI
“กรมฯ ได้ยกขบวนสินค้า GI จากชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ของไทย ร่วมต้อนรับสุดยอดผู้นำในการประชุมเอเปก 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในขณะนี้ ซึ่งถือเป็นซอฟต์ พาวเวอร์สำคัญที่ช่วยถ่ายทอดอัตลักษณ์ความเป็นไทยสู่ระดับนานาชาติ และมั่นใจว่าจะช่วยส่งเสริมสินค้า GI ไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างโอกาสทางการค้าทั้งในและต่างประเทศ และสร้างรายได้ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่นได้เพิ่มขึ้น”นายวุฒิไกรกล่าว
สำหรับเ มนูอาหารที่อาศัยวัตถุดิบ GI ประกอบด้วยข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ของจังหวัดศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ และมหาสารคาม เนื้อโคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร ปลากุเลาเค็มตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไวน์เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ส้มโอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ไข่เค็มไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และว่าที่สินค้า GI กล้วยหอมทองพบพระ จังหวัดตาก และผ้าไหมปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่นำมาทอเป็นของที่ระลึกแก่ผู้นำเอเปก เช่น เนคไท ผ้าคลุมไหล่
ทั้งนี้ สินค้า GI ทั้ง 8 รายการดังกล่าว ล้วนเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยที่ผ่านมา สร้างเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชนท้องถิ่นรวมกว่า 820 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกรมฯ และหน่วยงานพันธมิตร จะยังคงเดินหน้าส่งเสริมสินค้า GI โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้สินค้าไทยได้รับการคุ้มครองในตลาดการค้าที่สำคัญ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืน