- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 04 December 2022 11:20
- Hits: 1625
กรมเจรจาฯ แจ้งข่าวดี อินโดนีเซียพร้อมใช้ RCEP 2 ม.ค.66 เพิ่มโอกาสค้าขาย ผลิต ส่งออก
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแจ้งข่าวดี อินโดนีเซียยื่นสัตยาบันความตกลง RCEP แล้ว มีผลบังคับใช้วันที่ 2 ม.ค.66 เผยมีการเปิดตลาดเพิ่มเติม ทั้งเนื้อสัตว์ นม ประมง อาหารแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม เหล็ก เครื่องจักรกล เครื่องปรับอากาศ และเครื่องจักรกลการเกษตร ระบุยังช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเพิ่มโอกาสในการเลือกใช้วัตถุดิบมาผลิตสินค้า และส่งออกในตลาด RCEP ได้ดีขึ้น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้ยื่นสัตยาบันสารความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนเรียบร้อยแล้ว ทำให้ความตกลง RCEP จะพร้อมใช้บังคับกับอินโดนีเซีย ในวันที่ 2 ม.ค.2566 ซึ่งนับเป็นประเทศที่ 14 ต่อจากบรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เมียนมา เกาหลีใต้ และมาเลเซีย
ทั้งนี้ แม้อินโดนีเซียจะยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทย เกือบทุกรายการสินค้า หรือประมาณ 99% ภายใต้ความตกลง FTA ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ แต่ภายใต้ความตกลง RCEP อินโดนีเซียได้ยกเว้นภาษีเพิ่มเติมกว่าที่เปิดตลาดภายใต้ความตกลงที่อาเซียนกับคู่ค้าสำคัญ เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลี และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ทั้งกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม อาทิ เนื้อสัตว์ นม สินค้าประมง อาหารแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม เหล็ก เครื่องจักรกล เครื่องปรับอากาศ และเครื่องจักรกลการเกษตร
“เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถเลือกใช้วัตถุดิบจากอินโดนีเซีย ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังตลาด RCEP โดยใช้เงื่อนไขการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าของ RCEP และไทยสามารถนำวัตถุดิบจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า เพื่อส่งไปอินโดนีเซีย โดยใช้ประโยชน์จากการลดและยกเว้นภาษีภายใต้ RCEP ได้”นางอรมนกล่าว
สำหรับ ความตกลง RCEP เป็นความตกลงฉบับแรกของอาเซียนที่มีการจัดทำกฎถิ่นกำเนิดสินค้าทุกรายการสินค้า ทำให้กฎมีความชัดเจน สะท้อนกระบวนการผลิตสินค้าที่แท้จริง และยืดหยุ่นมากขึ้นกว่ากฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง FTA ที่ผ่านมาของอาเซียน จึงจะช่วยสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยความสะดวกในการทำการค้าของผู้ประกอบการ และเพิ่มโอกาสที่จะขยายเครือข่ายการผลิตและการกระจายสินค้าภายในภูมิภาค ตลอดจนเชื่อมโยงสินค้าและบริการของไทยเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าในภูมิภาคและโลกได้มากขึ้น จึงทำให้ความตกลง RCEP เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกและภูมิภาคหลังโควิด-19
ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 3 ของไทยในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 7 ของไทยในโลก โดยในช่วง 9 เดือนของปี 2565 (ม.ค.–ก.ย.) การค้าระหว่างไทยและอินโดนีเซีย มีมูลค่า 15,790 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 3.45% ของการค้ารวมของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอินโดนีเซีย มูลค่า 8,225 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำตาลทราย เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ และไทยนำเข้าจากอินโดนีเซีย มูลค่า 7,565 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ อาทิ ถ่านหิน น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์