- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 04 December 2022 11:01
- Hits: 1558
สนค.วิเคราะห์ 'ขมิ้น' สมุนไพรศักยภาพสูง มีโอกาสทำเงินตั้งแต่ปลูก แปรรูป ส่งออก
สนค.วิเคราะห์โอกาสทางการค้า 'สินค้าขมิ้น' พบเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง สามารถทำตลาดได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เผยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 15 ของโลก มีโอกาสโตได้อีก แนะต้องพัฒนาตั้งแต่การเพาะปลูกที่มีมาตรฐาน ใช้พันธุ์ดี ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นสารสกัด น้ำมันหอมระเหย และเน้นเพิ่มส่งออกไปตลาดที่ให้ราคาสูง
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์โอกาสทางการค้าสินค้าขมิ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ทั้งวัตถุดิบสมุนไพร เครื่องเทศ สารสกัด น้ำมันหอมระเหย อีกทั้งสามารถเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและบำรุงร่างกาย และเครื่องสำอาง โดยพบว่ามีโอกาสทำตลาดทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาดูแลรักษาสุขภาพ และสนใจผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สมุนไพรเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น
โดยสถานการณ์การค้าขมิ้นของโลกในปี 2564 มีมูลค่า 366.78 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศผู้ส่งออก 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.อินเดีย สัดส่วน 61.5% ของการส่งออกทั้งหมด 2.เนเธอร์แลนด์ สัดส่วน 4.3% 3.เวียดนาม สัดส่วน 3.4% ส่วนไทยเป็นผู้ส่งออกขมิ้นอันดับที่ 15 ของโลก มีมูลค่าการส่งออก 2.88 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 0.8% โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ อินเดีย มีสัดส่วน 66.1% ของมูลค่าการส่งออกขมิ้นทั้งหมดของไทย รองลงมา คือ สหรัฐฯ สัดส่วน 19.3% และเนเธอร์แลนด์ สัดส่วน 6.4% ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าขมิ้น ไทยนำเข้ามูลค่า 1.19 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากเมียนมา 65.2% ของมูลค่าการนำเข้าขมิ้นทั้งหมดของไทย รองลงมา คือ อินเดีย 29.9% และอินโดนีเซีย 2.8%ตามลำดับ
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ผลการศึกษาในปี 2564 พบว่า ไทยส่งออกขมิ้น 1,280.77 ตัน และนำเข้า 2,007.97 ตัน ซึ่งไทยมีความต้องการนำเข้ามากกว่าส่งออก จึงเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรไทยปลูกขมิ้นเป็นพืชทางเลือกในการสร้างรายได้ และสามารถทดแทนการนำเข้า โดยรัฐต้องส่งเสริมการปลูกให้ได้มาตรฐาน เช่น มาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร ส่งเสริมให้เพาะปลูกในจังหวัดที่ดินมีความเหมาะสมสำหรับการปลูกขมิ้น เช่น สระแก้ว กำแพงเพชร และอุดรธานี ตามระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-map) ส่งเสริมเกษตรกรรวมกลุ่มในลักษณะแปลงใหญ่ และส่งเสริมการปลูกให้ได้ราคาดี เช่น ขมิ้นสายพันธุ์ที่มีสารเคอร์คูมินอยด์สูง ขมิ้นอินทรีย์ ตลอดจนการปรับปรุงพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ
สำหรับ การแปรรูป ไทยควรศึกษาแนวทางการเพิ่มมูลค่าจากประเทศที่มีราคาส่งออกเฉลี่ยต่อหน่วยสูง เช่น ญี่ปุ่น มูลค่า 111,313 เหรียญสหรัฐต่อตัน สหรัฐฯ มูลค่า 6,373 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านการเกษตรและเทคโนโลยีการแปรรูป โดยจะต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแปรรูปสมุนไพรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริมการผลิตสารสกัดที่ได้มาตรฐานเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม ส่งเสริมให้มีระบบตรวจสอบย้อนกลับสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค เชื่อมโยงหน่วยงานวิจัยกับเกษตรกรหรือผู้ประกอบการ เพื่อทราบความต้องการจากภาคการผลิตให้ผลงานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ผลักดันให้เกิดการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ปรับเปลี่ยนจากการส่งออกในรูปแบบวัตถุดิบเป็นสินค้ามีมูลค่าสูง รวมทั้งเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ขมิ้นหรือสมุนไพรแปรรูปอื่น ๆ กับการท่องเที่ยว เช่น ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงาม เป็นต้น เพื่อแก้ปัญหาราคาส่งออกขมิ้นของไทยที่มีแนวโน้มลดลง โดยปี 2564 มีราคาส่งออกเฉลี่ยต่อหน่วยอยู่ที่ 2,244 เหรียญสหรัฐต่อตัน เทียบกับราคาส่งออกเฉลี่ย 5,806 เหรียญสหรัฐต่อตัน และ 4,062 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในปี 2556 และ 2560 ตามลำดับ
ส่วนการทำตลาด ควรเพิ่มช่องทางการตลาดเชิงรุก เชื่อมโยงเกษตรกรกับภาคอุตสาหกรรมและบริการ ใช้ระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เพื่อความมั่นคงทางรายได้ของเกษตรกร และในการทำตลาดส่งออก ควรเพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปตลาดอื่น ๆ โดยตลาดที่มีราคานำเข้าเฉลี่ยต่อหน่วยสูง เช่น นิวซีแลนด์ ราคา 7,610 เหรียญสหรัฐต่อตัน สหรัฐฯ 4,755 เหรียญสหรัฐต่อตัน แคนาดา 3,940 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซาอุดีอาระเบีย 3,320 เหรียญสหรัฐต่อตัน เยอรมนี 2,585 เหรียญสหรัฐต่อตัน และเนเธอร์แลนด์ 2,104 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็นต้น เพื่อลดการพึ่งพาตลาดอินเดียที่ปัจจุบันไทยส่งออกไปสัดส่วนสูงถึง 66.1% และมีราคานำเข้าต่ำแค่ 1,316 เหรียญสหรัฐต่อตัน
“ขมิ้นของไทยหากได้รับการส่งเสริมที่ดี มีโอกาสในการพัฒนาและสร้างมูลค่าการค้าให้สูงขึ้นได้อีกมาก โดยทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา ชุมชน และเกษตรกร ต้องบูรณาการการทำงานและให้ความร่วมมือกัน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ รวมถึงสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ เช่น เพิ่มมูลค่าเป็นสารสกัดขมิ้น น้ำมันหอมระเหย เพื่อเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสินค้า ทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อาหารเสริม และเครื่องสำอาง ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสมุนไพรของไทย และเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกอย่างแข็งแกร่งต่อไป”นายพูนพงษ์กล่าว