- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 04 December 2022 08:45
- Hits: 1630
กรมพัฒน์ฯ เตือนภัยประชาชน-ธุรกิจ ระวังตกเป็นเหยื่อฟิชชิง ถูกหลอกจนเสียเงิน
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตือนภัยประชาชน ระวังมิจฉาชีพหลอกลวงในลักษณะฟิชชิง หลังพบมีการแอบอ้างชื่อ ใช้โลโก้เป็นโปรไฟล์ ขอตรวจสอบธุรกิจ หรือเสนอให้เงินช่วยเหลือ ย้ำไม่มีนโยบายทักหาประชาชนหรือธุรกิจก่อน ใครเจอแบบนี้ อย่าหลงเชื่อ และอย่ากดไฟล์หรือเอกสารที่แนบมาโดยไม่สังเกตความผิดปกติ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่ามีผู้ไม่หวังดีโทรศัพท์หรือส่งข้อความไปยังผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่สร้างปลอมขึ้นมาอย่าง Facebook และแอปพลิเคชัน Line โดยแอบอ้างใช้ชื่อรหัสประจำตัว (Username) เป็นชื่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และใช้โลโก้กรมฯ เป็นรูปโปรไฟล์ พร้อมขอตรวจสอบธุรกิจเรื่องต่างๆ หรือเสนอเงินให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
โดยให้กดเพิ่มเพื่อนทาง Line เพื่อขอข้อมูล รวมถึงการปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์ให้มีรูปแบบคล้ายกับหน้าเว็บไซต์กรมฯ หรือบางกรณีหลอกลวงให้กดลิงค์เว็บไซต์ บางรายแจ้งให้คลิกเปิดไฟล์เอกสารที่แนบมาด้วย ทั้งที่ผู้เสียหายไม่ได้มีการติดต่อกับกรมฯ มาก่อน ทำให้ภาคธุรกิจหรือประชาชนบางรายต้องสูญเสียเงินในบัญชีจากการหลงเชื่อข้อมูลเท็จดังกล่าว เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการให้บริการของกรมฯ อย่างมาก ที่สำคัญยังทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายหรือสูญเสียทรัพย์สินอีกด้วย
“ขอยืนยันว่า กรมฯ ไม่มีนโยบายที่จะติดต่อหรือทักไปหาประชาชนก่อน โดยที่ประชาชนท่านนั้นไม่ได้สอบถามข้อมูลมา รวมถึงให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจด้วยเงิน จึงฝากให้ประชาชนพึงระวัง หากไม่ได้ดำเนินการติดต่อใดๆ กับกรมฯ แต่ได้รับข้อมูลหรือการติดต่อจากบุคคลในลักษณะดังกล่าว ต้องพิจารณาให้ดีก่อน อย่าหลงเชื่อหรือกดไฟล์เอกสารที่แนบมาโดยไม่สังเกตความผิดปกติ และปฏิเสธการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่น”นายทศพลกล่าว
นายทศพล กล่าวว่า ปัจจุบันมิจฉาชีพได้เปลี่ยนกลวิธีการหลอกลวงให้แนบเนียนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเข้าถึงทุกคน และได้แอบอ้างเอาหน่วยงานราชการมาใช้สร้างความเสียหาย การกระทำลักษณะดังกล่าวเรียกว่าการฟิชชิง (Phishing) เป็นการหลอกลวงผ่านช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงแต่ละบุคคล เช่น โทรศัพท์ อีเมล Social Media และเว็บไซต์ปลอม เพื่อล่อลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้โจรกรรม ซึ่งจะใช้การสร้างสถานการณ์ให้เกิดความกลัว หรือได้รับผลประโยชน์บางอย่าง จนหลงเชื่อทำตามและบอกข้อมูลส่วนบุคคลไป
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนระมัดระวังการเปิดรับข้อมูลจากแหล่งที่ไม่มั่นใจ และรู้ทันกลโกงของมิจฉาชีพ สามารถสังเกตจากถ้าได้รับอีเมลควรเป็นชื่อที่รู้จักหรือติดต่อไว้เท่านั้น หากระบุให้คลิกลิงค์ หรือเปิดไฟล์ ต้องแน่ใจว่าไม่มีความผิดปกติ เมื่อนำเมาส์ไปชี้ที่ลิงค์ URL จะต้องมี URL ที่ตรงกันกับหน่วยงานที่ติดต่อเท่านั้น อีกทั้งการเข้าใช้งานในเว็บไซต์ ควรพิมพ์ URL โดยตรงจะปลอดภัยกว่าการเข้าใช้งานผ่านลิ้งก์
“กรมฯ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ามีระบบการเก็บรักษาข้อมูลนิติบุคคลเป็นอย่างดีตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และขอย้ำอีกครั้งว่า ไม่มีนโยบายในการติดต่อหาประชาชนเพื่อขอข้อมูลส่วนบุคคลก่อน และเสนอเงินช่วยเหลือ หากได้รับการติดต่อไปก่อนในลักษณะนี้ ให้สงสัยไว้ว่าอาจจะเป็นกลุ่มมิจฉาชีพ ให้พึงระวัง หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมหรือติดตามโครงการส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจด้านต่าง ๆ ติดต่อได้ที่ สายด่วน 1570 เว็บไซต์ www.dbd.go.th และ FB : DBD Public Relations”นายทศพลกล่าว