- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 30 September 2022 20:54
- Hits: 1318
จุรินทร์ เป็นประธานการลงนาม Mini FTA ไทย-คยองกี หนุนเพิ่มค้าขาย-พัฒนา SMEs
จุรินทร์ เป็นประธานการลงนาม MOU ทำ Mini FTA ไทย-คยองกี มั่นใจช่วยเพิ่มความร่วมมือในการขยายการค้า และสนับสนุน SMEs ของสองฝ่าย
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กับบริษัท Gyeonggi Business and Science Accelerator (GBSA) เมืองคยองกี สาธารณรัฐเกาหลี พร้อมด้วยนายมุน ซึง-ฮยอน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย นายกีรติ รัชโน รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่ ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า การจัดทำ Mini-FTA ถือเป็นนโยบายที่ตนได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์ สร้างความสัมพันธ์ในอีกรูปแบบทางการค้า การลงทุน นอกเหนือจากรูปแบบ FTA ปัจจุบันที่ไทยมี 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ โดย Mini-FTA จะเป็นนโยบายส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า ลดอุปสรรค และหาลู่ทางใหม่ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างผู้ลงนามทั้ง 2 ฝ่าย
ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ มี Mini-FTA กับเมืองและรัฐสำคัญในโลก 5 ฉบับ เริ่มที่ไห่หนาน ของจีน รัฐเตลังคานา ของอินเดีย เมืองโคฟุ ของญี่ปุ่น กานซู่ ของจีน และปูซาน ของเกาหลี และฉบับนี้ที่ทำกับ GBSA เป็นฉบับที่ 6 และกระทรวงพาณิชย์ยังมีเป้าหมายอีกหลายรัฐและหลายมณฑลทั่วโลก
“เมืองคยองกี เป็นเมืองที่มีจีดีพีสูงที่สุดของเกาหลีใต้ และเป็นซิลิคอนวัลเลย์ของเกาหลีใต้ มีการพัฒนาไอทีส่งเสริมเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม การทำ Mini-FTA ไทย-คยองกี จะมีส่วนช่วยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของ 2 ประเทศ โดยเฉพาะช่วย SMEs ของทั้งสองประเทศ และเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันต่อไป โดยการค้าระหว่างไทยกับคยองกีปี 2564 มีมูลค่าการค้ารวม 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 7 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกันแล้ว 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ”นายจุรินทร์กล่าว
นายมุน ซึง-ฮยอน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย กล่าวว่า การทำ Mini FTA สามารถช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-เกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี โดยก่อนหน้านี้ มีการเซ็น MOU กับเมืองปูซานไปแล้ว และหวังว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้น จะมีผลต่อเศรษฐกิจทั้งไทยและเกาหลีใต้เติบโตไปด้วยกัน และยังมี RCEP ที่ได้ทำร่วมกัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้ง Mini FTA และ RCEP จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสองประเทศต่อไป
รายงานข่าวจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แจ้งว่า ความร่วมมือ Mini-FTA ไทย-คยองกี นับเป็น Mini-FTA ฉบับที่ 2 ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จัดทำกับหน่วยงานท้องถิ่นของเกาหลีใต้ มีเป้าหมายเพื่อเปิดประตูการค้าด้วยสินค้า บริการ และซอฟต์ พาวเวอร์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการบุกตลาดเกาหลีใต้ ส่วนหน่วยงาน GBSA เป็นหน่วยงานภายใต้รัฐบาลจังหวัดคยองกี ทำหน้าที่ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจการค้าและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ของจังหวัดคยองกี