- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 30 September 2022 17:19
- Hits: 1293
พาณิชย์ เปิดตัว DITP Business AI ช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าให้ผู้ส่งออกไทย
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดตัว DITP Business AI นวัตกรรมใหม่ ในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ช่วยประเมินโอกาสและความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ เจาะลึกข้อมูลรายสินค้า รายประเทศ มั่นใจช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกเพื่อตัดสินใจทำธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น และภาครัฐสามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อกำหนดแผนงานและยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการค้าได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์โลก
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ ได้เปิดตัวระบบแนะนำกลยุทธ์ทางการค้าด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ DITP Business AI ที่จะเข้ามาช่วยประเมินโอกาสและความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ โดยสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ถึง 30 กลุ่มสินค้า ครอบคลุม 5 หมวดสินค้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าอาหาร สินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม และสินค้าอุตสาหกรรม และยังสามารถคาดการณ์แนวโน้มการส่งออกเป็นรายสินค้าและรายประเทศ (Global trade Analytics) ได้ทั้งในระยะสั้น (3 เดือน) และในระยะยาว (12 เดือน) การวิเคราะห์ผลกระทบทางการค้าระหว่างประเทศจากแหล่งข่าวทั่วโลก (News Sentiment Analytics) และการวิเคราะห์ความต้องการเชิงลึกของผู้ซื้อผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชในตลาดเป้าหมาย (Market Insight)
ทั้งนี้ ยังมีระบบแจ้งเตือนสถานการณ์สำคัญที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มสินค้าเป้าหมาย ทั้งที่เป็นเชิงบวกและเชิงลบต่อการค้าของไทย (Early Warning) ระบบแนะนำกลยุทธ์ทางการค้า (Suggestive Guideline) ที่จะช่วยประเมินศักยภาพของประเทศคู่ค้าเพื่อโอกาสในการส่งออก และระบบวิเคราะห์คู่แข่ง (Competitor Analysis) เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งทางการค้าในตลาดและสินค้าเป้าหมาย โดยผู้สนใจสามารถเข้าลงทะเบียนใช้งานผ่านทาง https://tradeai.ditp.go.th
สำหรับ ระบบ DITP Business AI เป็นระบบที่ช่วยให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งการเพิ่มกิจกรรมที่จะนำมาใช้ขับเคลื่อนการส่งออกในตลาดที่มีโอกาส หรือแผนรับมือความเสี่ยงสำหรับตลาดที่มีแนวโน้มถดถอย หรือเสียเปรียบให้กับคู่แข่ง สามารถค้นหาความต้องการเชิงลึกของตลาด ทำให้ทราบกระแสความต้องการของผู้บริโภค เช่น กระแสความนิยมผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Bio Circular and Green : BCG) แนวโน้มความต้องการสินค้าแห่งอนาคต (Future Food) สินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการรองรับสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) หรือแม้แต่ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคอย่าง Soft Power ซึ่งข้อมูลที่ AI วิเคราะห์ได้ดังกล่าวสามารถช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจการค้าของไทยและนำพาผู้ประกอบการไทยไปสู่อนาคตทางการค้าระหว่างประเทศที่ดียิ่งขึ้นกว่าในปัจจุบัน
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อร่วมมือกันในการพัฒนาแนวทางในการนำข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการผลักดันการค้าระหว่างประเทศของไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัล โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เข้าร่วมลงนามความร่วมมือดังกล่าว พร้อมด้วย รศ.ดร. ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) นำทีมผู้เชี่ยวชาญให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ (Technical Assistance) แก่กรมฯ ในการพัฒนาและปรับปรุงระบบสารสนเทศและแบบจำลองที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ และ ร่วมกันพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับ Data Science และ Business Intelligence เพื่อประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการตัดสินใจบนข้อมูลเชิงประจักษ์
“กรมฯ มั่นใจว่า ระบบ DITP Business AI จะเข้ามาช่วยพลิกโฉมหน้าการทำการค้าระหว่างประเทศให้กับผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทย เพราะสามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าสินค้าอะไรกำลังเติบโต ประเทศไหนต้องการสินค้าอะไร แล้วสามารถนำมาใช้ในการวางแผนการผลิตและส่งออก รวมทั้งสามารถประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อการส่งออกได้ด้วย ทำให้สามารถวางแผนรับมือได้ทันท่วงที และช่วยให้ไทยยังคงเดินหน้าผลักดันการส่งออก ทำรายได้เข้าประเทศได้ต่อเนื่อง”นายภูสิตกล่าว