- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 17 September 2022 17:14
- Hits: 1815
อคส. แห่ประมูลข้าวเก่าเก็บ ล็อตสุดท้าย 1.27 แสนตันเกลี้ยง ได้ราคาสุดดี
อคส. เปิดประมูลข้าวสารสต๊อกรัฐล็อตสุดท้าย 1.27 แสนตัน จากทั้งหมด 2.18 แสนตัน มีทั้งข้าวเสื่อมเข้าอุตสาหกรรม ข้าวค้างส่งมอบ และขายเป็นการทั่วไป เผยขายได้หมดเกลี้ยง ได้ราคาดีมาก สูงสุดกิโลกรัมละ 10.20 บาท หรือตันละ 10,200 บาท ทำรายได้รวมเกือบ 900 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกกว่า 9 หมื่นตัน มีทั้งยึดหน่วง รอบริษัทประกันจ่ายสินไหม และค้างส่งมอบ แต่จะเร่งเคลียร์ให้จบภายในก.ย.66
นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา อคส. ได้เปิดให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ ยื่นซองเสนอราคาซื้อข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลที่ได้จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี และนาปรังในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเก็บในคลังกลางที่ อคส. ดูแลอยู่ในส่วนที่เหลือล็อตสุดท้ายอีก 218,000 ตัน ซึ่งเป็นข้าวที่ติดปัญหาต่างๆ หรือสูญหายไปจากบัญชี แต่เพิ่งแก้ปัญหาได้
และกำหนดเปิดซองเสนอราคาวันเดียวกัน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ข้าวสารในสต๊อกรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 นาปี ปี 2555/56 และปี 2556/57 มีทั้งข้าวเหนียว 10% ข้าวขาว 5% ข้าวขาว 10% ปลายข้าวขาว เอวัน เลิศ ปริมาณ 114,395 ตัน
ทั้งนี้ ยังมีข้าวสารในสต๊อกรัฐที่ขายเป็นการทั่วไป เป็นข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ปี 2555/56 ปริมาณ 1,627 ตัน และข้าวสารที่โกดังและคลังสินค้าค้างส่งมอบเข้าโกดังกลาง เป็นข้าวหอมมะลิ ข้าวท่อนหอมมะลิ และปลายข้าวขาว เอวัน เลิศ ปี 2548/49 และปี 2554/55 ปริมาณ 11,506 ตัน รวมทั้งสิ้น 127,100 ตัน
“การประมูลข้าวครั้งนี้ เป็นข้าวสารในสต๊อกรัฐล็อตสุดท้ายแล้ว มีผู้เสนอซื้อครบทั้ง 127,100 ตัน ถือว่า ได้ราคาดีมาก อย่างข้าวเข้าอุตสาหกรรม ซึ่งสภาพเสื่อมไปมาก จากการเก็บมาหลายปี ยังได้ราคาสูงสุดถึงกิโลกรัม (กก.) ละ 10.20 บาท หรือตันละ 10,200 บาท น่าจะสูงกว่าที่เคยขายได้ ผู้ซื้อบอกว่า ตอนนี้หาวัตถุดิบมาทำเอทานอลยากมาก โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ส่วนข้าวหอมมะลิ ได้สูงถึงตันละ 13,262 บาท และข้าวค้างส่งมอบ สูงสุดตันละ 5,580 บาท โดยการขายข้าวครั้งนี้ ได้เงินถึง 880 ล้านบาท”นายเกรียงศักดิ์กล่าว
ส่วนข้าวสารที่เหลืออีกกว่า 90,900 ตัน เป็นข้าวที่ยังมีภาระอยู่ เพราะเจ้าของคลังที่ อคส. เช่าฝากเก็บ ยังยึดหน่วง ไม่ยอมให้ผู้ชนะประมูลในช่วงที่ผ่านมา เข้าไปขนข้าวออกจากโกดัง ทั้งๆ ที่ได้ทำสัญญาซื้อขายกับ อคส. ไว้แล้ว , ข้าวที่เกิดความเสียหาย และบริษัทประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ และข้าวที่ค้างรับมอบ ซึ่งจะเร่งรัดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบให้เสร็จภายในเดือนก.ย.2566 อย่างข้าวที่ถูกยึดหน่วง อคส. ได้ส่งฟ้องร้องเพื่อให้ศาลสั่งให้ปล่อยข้าวแล้ว รวมถึงได้เร่งรัดให้บริษัทประกันภัย เร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมให้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการขนย้ายข้าวออกจากโกดัง หากผู้ชนะประมูล พบว่า ข้าวในคลังที่ตนเองซื้อไป มีน้ำหนักไม่ตรงกับบัญชี ที่รับข้าวออกจากโกดังตั้งแต่แรก หรือน้ำหนักขาดหายไปเกินอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดที่กำหนดไม่เกิน 1% โกดัง และคลังที่ฝากเก็บข้าวจะต้องรับผิดชอบความเสียหาย ไม่เช่นนั้น อคส. ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อไป
พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ รองผู้อำนวยการ อคส. กล่าวว่า ผู้ชนะการประมูลซื้อข้าวสารในสต๊อกรัฐทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก ข้าวเปลือกและข้าวสารที่โรงสีค้างส่งมอบโกดังกลาง ปี 2548/49 มีผู้ชนะ 1 ราย เสนอซื้อที่ตันละ 2,501 บาท ส่วนปี 2554/55 เป็นรายเดียวกันให้ราคาตันละ 5,580 บาท ส่วนการขายเป็นการทั่วไป ผู้ชนะมี 2 ราย โดยรายแรกเสนอซื้อ 1,189 ตัน ให้ราคาตันละ 12,526 บาท รายที่ 2 เสนอซื้อ 438 ตัน ให้ราคาตันละ 13,262 บาท และข้าวสารเข้าสู่อุตสาหกรรม มีผู้ผลิตเอทานอลชนะประมูลทั้งหมด 6 ราย ให้ราคาตั้งแต่ 5,030-10,232 บาท
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2565 อคส.ได้ประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล และเชิญมารับฟังรายละเอียดแนวทางปฏิบัติก่อนการทำสัญญา โดยกำหนดทำสัญญาภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจาก อคส. และผู้ชนะประมูลข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้ผลิตเอทานอลทั้งหมด ก่อนทำสัญญา ต้องยินยอมให้ อคส. ตรวจสอบโรงงาน และร่วมวางแผนการผลิต รวมทั้งอนุญาตติดตั้งระบบเทคโนโลยีการควบคุมการตรวจสอบ การผลิต การขนย้ายด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมมาวนขายในตลาดทั่วไปสำหรับคนบริโภค
โดย อคส. จะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมทางหลวง ตำรวจทางหลวง กรรมการระดับจังหวัด กรมการค้าภายใน กำหนดมาตรการควบคุมการขนย้ายข้าวจากโกดังมายังบริษัท หรือโรงงานของผู้ชนะประมูล เช่น รถบรรทุกต้องติดจีพีเอส , ที่โรงงานปลายทางต้องมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) รวมถึงต้องแจ้งแผนการผลิต การขนย้าย ซึ่งมั่นใจว่า มาตรการนี้ จะควบคุม และป้องกันไม่ให้เอาข้าวไปเวียนขายในตลาดปกติได้แน่นอน