- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 02 September 2022 09:09
- Hits: 2854
จุรินทร์ ประกาศกลางสภาฯ เดินหน้า 'ประกันรายได้ข้าว' ปี 4 รอเข้า นบข. 8 ก.ย.นี้
จุรินทร์ ประกาศกลางสภาผู้แทนราษฎร ประกันรายได้ข้าวปี 4 เดินหน้าต่อ เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของ นบข. วันที่ 8 ก.ย.นี้ คาดเริ่มจ่ายส่วนต่างงวดแรกวันที่ 15 ต.ค. เผยยังมีมาตรการคู่ขนานช่วยดันราคาข้าว และจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาทเหมือนเดิม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของนายนพพล เหลืองทองนารา ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 4 ที่รัฐสภา ว่า ได้ยืนยันนโยบายประกันรายได้เกษตรกร มีความชัดเจนมาตั้งแต่ต้น เป็นนโยบายที่ดำเนินการต่อเนื่อง และนโยบายนี้ ได้ประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อที่ประชุมรัฐสภาแห่งนี้ ผูกพันรัฐบาล และรัฐบาลดำเนินนโยบายนี้มาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และปีนี้กำลังขึ้นสู่ปีที่ 4 จึงขออนุญาตเรียนว่าไม่มีทางเป็นอย่างอื่นได้ รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งมีพืช 5 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
โดยการประกันรายได้ข้าว ขณะนี้ได้ผ่านที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการตลาดแล้ว กำลังจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในวันที่ 8 ก.ย.2565 ถ้าผ่านจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป และโครงการนี้ จะเริ่มจ่ายเงินส่วนต่างตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2565 ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง กระบวนการเป็นไปตามนี้ มีความชัดเจน และทันเวลาอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการคู่ขนานที่ดำเนินการมาโดยต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บสต๊อกข้าว ที่เรียกว่าชะลอขายของเกษตรกร ตันละ 1,500 บาท รวมทั้งช่วยดอกเบี้ย 3% ให้กับเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์เกษตรกร ที่เก็บสต๊อกข้าวไว้ในช่วงที่ข้าวออกเยอะ และช่วยโรงสี ดอกเบี้ย 3% เช่นเดียวกัน และยังจะจ่ายไร่ละ 1,000 บาท ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งได้ผ่านที่ประชุมอนุกรรมการด้านการตลาดแล้วเช่นเดียวกัน รอที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ นบข. และ ครม. เช่นเดียวกัน
“ตอนนี้ ผ่านคณะอนุกรรมการ ที่มีผมเป็นประธานไปแล้ว ส่วนที่ประชุม นบข. จะเห็นอย่างไร ไม่อยู่ในฐานะจะไปตอบ แต่โดยส่วนตัว นโยบายประกันรายได้ข้าว ควรจะต้องผ่าน เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้กับรัฐสภา และวงเงินงบประมาณทั้งหมดที่เสนอไป 150,000 ล้านบาทโดยประมาณ ใช้เงินไม่น้อยในการตั้งใจช่วยเหลือเกษตรกร ขึ้นอยู่กับนโยบายการเงินการคลัง ซึ่งมีประกาศกำหนดเพดานไว้ว่าต้องไม่เกิน 35%
กระทรวงการคลัง มีระบบบริหารจัดการเช่นทุกปีที่สามารถจัดสรรให้ผ่านพ้นไปได้ แม้บางช่วงอาจจะขลุกขลักบ้าง เพราะอาจติดเรื่องเพดาน 30% และ 35% แต่สุดท้ายชาวนาก็จะได้รับเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ และเงินไร่ละ 1,000 บาท ตามที่ได้กำหนดไว้”นายจุรินทร์กล่าว