WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1AAexPORT7

ส่งออก ก.ค.โตต่อ เพิ่ม 4.3% บวก 17 เดือนติด รวม 7 เดือนขยายตัว 11.5%

     ส่งออกก.ค.65 ยังขยายตัวได้ดี มีมูลค่า 23,629.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 4.3% บวกติดต่อกัน 17 เดือน รวม 7 เดือน มีมูลค่า 172,814.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 11.5% ‘จุรินทร์’สั่งทูตพาณิชย์เพิ่มแผนงานและกิจกรรมผลักดันยอดส่งออกใหม่ เป็น 530 กิจกรรม หวังเร่งทำเงินเข้าประเทศช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ และหนุนส่งออกทั้งปีเป็นบวกให้ได้มากที่สุด

     นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนก.ค.2565 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง มีมูลค่า 23,629.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.3% เป็นการขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 829,028.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% ส่วนยอดรวม 7 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 172,814.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.5% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 5,774,277.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.2% ส่วนการนำเข้าก.ค.2565 มีมูลค่า 27,289.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.9% ขาดดุลการค้า 3,660.5 ล้านเหรียญสหรัฐ รวม 7 เดือน นำเข้ามูลค่า 182,730.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขาดดุลการค้า 9,916.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

     ปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออก มาจากความต้องการอาหารจากทั่วโลกยังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้สินค้าเกษตร อาหาร ยังส่งออกได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกเนื้อสัตว์ปีก การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และการผ่อนคลายประเทศให้มีการท่องเที่ยว ทำให้สินค้าบางส่วน เช่น อัญมณีเครื่องประดับ เครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์การเดินทางขยายตัวได้ดีขึ้น ค่าระวางเรือมีแนวโน้มลดลง ความหนาแน่นและความล่าช้าลดลง ในการขนส่งบริเวณท่าเรือสำคัญของโลก ที่ทำให้ระบบการขนส่งคล่องตัว ไม่เป็นอุปสรรคในการส่งออก และค่าเงินบาทยังอ่อนค่า ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร

     ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนก.ค.2565 สินค้าเกษตร ลดลง 0.3% เพราะปีนี้ผลไม้สด หมดฤดูกาลเร็ว จึงไม่มีของส่งออก จากช่วงก่อนหน้านี้ ประสบความสำเร็จในการส่งออกไปจีน จึงฉุดภาพรวมให้ลดลง แต่สินค้าเกษตรอื่น ๆ ยังเพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้แช่แข็งและผลไม้แห้ง เพิ่ม 94.3% โดยเฉพาะทุเรียนแช่แข็ง เพิ่ม 126.2% ลำไยแห้ง เพิ่ม 66.3% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 35.5% ข้าว เพิ่ม 21.5% ยางพารา เพิ่ม 12% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 38.1% เช่น น้ำตาลทราย เพิ่ม 258.8% ไอศกรีม เป็นดาวรุ่งตัวใหม่ เพิ่ม 34.2% บวก 26 เดือนต่อเนื่อง อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 25.4% บวก 35 เดือนต่อเนื่อง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 17.3% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 16.4%

      ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มเพียง 0.1% เพราะมีปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ที่เกิดกับอุตสาหกรรมทั่วโลก ทำให้มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่ต้องใช้ชิป แต่ก็ยังมีหลายสินค้าที่ส่งออกได้เพิ่ม เช่น เครื่องโทรสาร โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 34.6% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เพิ่ม 25.5% ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เพิ่ม 21.4% อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่ม 19.1% เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เพิ่ม 13.6% เครื่องนุ่งห่ม เพิ่ม 10.7%

     สำหรับ ตลาดส่งออกที่ขยายตัวได้ดี 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.เกาหลีใต้ เพิ่ม 39.4% 2.ตะวันออกกลาง เพิ่ม 27.4% 3.แคนาดา เพิ่ม 27.3% 4.CLMV เพิ่ม 24.2% 5.อาเซียน (5 ประเทศ) เพิ่ม 21.3% 6.เอเชียใต้ เพิ่ม 21.1% 7.ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 20% 8.สหราชอาณาจักร เพิ่ม 17.2% 9.สหภาพยุโรป เพิ่ม 8.1% และ 10.สหรัฐฯ เพิ่ม 4.7%

     ทางด้านการค้าชายแดนและผ่านแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวเลขการส่งออก เดือนก.ค.2565 การส่งออกชายแดนไปยัง 4 ประเทศ มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา มีมูลค่า 51,665 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.80% และรวม 7 เดือน มีมูลค่า 376,074 ล้านบาท เพิ่ม 19.9% ส่วนการส่งออกผ่านแดนไปจีน เวียดนาม และสิงโปร์ เดือนก.ค. มีมูลค่า 36,123 ล้านบาท ลด 27.30% รวม 7 เดือนมูลค่า 218,541 ล้านบาท ลด 21.16% เพราะสามารถแก้ปัญหาระบบการขนส่งได้ดี โดยแทนที่จะส่งออกทางบก ก็หันไปส่งออกทางเรือ ทางอากาศแทน ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องติดขัดที่ด่าน 

     นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ส่งออก ประเมินว่าทั้งปียังเป็นบวก เพราะกระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับภาคเอกชนร่วมมือกันแก้ปัญหาและจะเพิ่มแผนงานและกิจกรรมต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อทำให้ตัวเลขรวมทั้งปีและ 5 เดือนที่เหลืออยู่ ทำเงินเข้าประเทศให้ได้มากที่สุด โดยได้สั่งให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลก เร่งรัดทำแผนส่งออกทั้งเชิงรุกและเชิงลึก มายังกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแล้ว

     ขณะนี้แผนงานทั้งหมดทำเสร็จสิ้นแล้ว ได้ดำเนินการทางปฏิบัติแล้ว เดิมกำหนดแผนการจัดกิจกรรมเชิงรุกและเชิงลึกทั้งปี 2565 ไว้ 185 กิจกรรม แต่จะเพิ่มอีก 345 กิจกรรม รวมเป็น 530 กิจกรรม เพื่อเร่งทำเงินเข้าประเทศและทำรายได้ให้ประเทศ ซึ่งวันที่ 14 ก.ย.2565 ได้สั่งการให้มีการนัดประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อติดตามผลและเร่งรัดการดำเนินกิจกรรม เพื่อทำให้ตัวเลขการส่งออกปี 2565 ให้ดีที่สุด

      ส่วนตัวเลขการขาดดุลการค้า เดือนก.ค.2565 ที่มีมูลค่า 3,660.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 7 เดือนมูลค่า 9,916.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าที่มีราคาสูงตามการสูงขึ้นของตลาดโลก เช่น น้ำมัน และทองคำ และหากราคาพลังงานโลกยังสูงอีก ก็ยังมีโอกาสที่จะขาดดุลอีก แต่ในนี้ ก็มีการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกในอนาคต

 1Aส่งออก6 65

ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกรกฎาคม และ 7 เดือนแรกของปี 2565

      การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2565 มีมูลค่า 23,629.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (829,029 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 4.3 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.1

      โดยยังคงขยายตัวจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหลัก ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่สูงขึ้นตามปริมาณผลผลิตโลกที่ยังได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย อาทิ การส่งออกธัญพืชได้อย่างจำกัดของยูเครนในช่วงเวลาก่อนหน้า มาตรการจำกัดการส่งออกของต่างประเทศ  จึงทำให้ไทยได้รับประโยชน์ในฐานะเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญ

     ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเพียงเล็กน้อย เนื่องจากภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับเซมิคอนดักเตอร์เริ่มได้รับผลกระทบมากขึ้น และผลจากมาตรการล็อกดาวน์เมืองอุตสาหกรรมสำคัญของจีน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการผลิตและการส่งมอบ อย่างไรก็ดี ยังมีบางกลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวดี โดยเฉพาะสินค้าที่ได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

     สำหรับ ด้านตลาดส่งออกเริ่มเห็นสัญญาณเติบโตในอัตราชะลอตัว เนื่องจากคู่ค้ามีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่สูง ทั้งนี้ การส่งออกไทย 7 เดือนแรก ขยายตัวร้อยละ 11.5 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 8.3

 

มูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ

      เดือนกรกฎาคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 23,629.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.3 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 27,289.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 23.9 ดุลการค้า ขาดดุล 3,660.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม - กรกฎาคม) การส่งออก มีมูลค่า 172,814.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.5 การนำเข้า มีมูลค่า 182,730.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.4 ดุลการค้า ขาดดุล 9,916.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท

      เดือนกรกฎาคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 829,029 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.0 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 968,940 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 38.7 ดุลการค้าขาดดุล 139,911 ล้านบาท ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม - กรกฎาคม) การส่งออก มีมูลค่า 5,774,277 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 22.2 การนำเข้า มีมูลค่า 6,192,216 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 33.0 ดุลการค้า ขาดดุล 417,939 ล้านบาท

 

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

     มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 14.6 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 20 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 12.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 258.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา)

      ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 35.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้)

       อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 16.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 21.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดอิรัก โมซัมบิก ฟิลิปปินส์ เซเนกัล และญี่ปุ่น) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 25.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอิตาลี)

       ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 17.3 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย และออสเตรเลีย) ไอศกรีม ขยายตัวร้อยละ 34.2 (ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์)

       สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สด หดตัวร้อยละ 32.6 (หดตัวในตลาดจีน ฮ่องกง เวียดนาม เมียนมา และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินเดีย) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 10.1 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์)

       สิ่งปรุงรสอาหาร หดตัวร้อยละ 5.4 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเนเธอร์แลนด์ แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา และสหราชอาณาจักร) ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 16.7 (YoY)

 

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

       มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 0.1 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 19.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง อินเดีย เยอรมนี และสหราชอาณาจักร) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 25.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไต้หวัน และอินเดีย)

     เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 34.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมียนมา และมาเลเซีย) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขยายตัวร้อยละ 13.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ จีน ออสเตรเลีย เวียดนาม และเมียนมา) ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ขยายตัวร้อยละ 21.4 ขยายตัวต่อเนื่อง 20 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย)

      เครื่องนุ่งห่ม ขยายตัวร้อยละ 10.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 17 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 2.9 หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (หดตัวในตลาดเวียดนาม และเม็กซิโก แต่ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ และมาเลเซีย)

     เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ หดตัวร้อยละ 21.3 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ จีน และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อินเดีย ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และฮังการี) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 4.4 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมนี และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ และอินเดีย) ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.0 (YoY)

 

ตลาดส่งออกสำคัญ

     การส่งออกไปประเทศคู่ค้าสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจการค้าโลกที่มีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องในหลายประเทศ และความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ขณะที่การส่งออกไปจีนและญี่ปุ่นหดตัวตามภาคการผลิตและการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัวจากผลกระทบของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวด ทั้งนี้ ภาพรวม

    การส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 4.2 โดยขยายตัวต่อเนื่องในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 4.7 อาเซียน (5) ร้อยละ 21.3 CLMV ร้อยละ 24.2 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 8.1 ขณะที่ตลาดจีน และญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 20.6 และ 4.7 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 7.4 ขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 21.1 ทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 20.0 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 27.4 และทวีปแอฟริกา ร้อยละ 4.3 ขณะที่ลาตินอเมริกา และ รัสเซียและกลุ่ม CIS หดตัวร้อยละ 6.7 และร้อยละ 39.7 ตามลำดับ (3) ตลาดอื่นๆ หดตัว ร้อยละ 58.3 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ หดตัวร้อยละ 64.4

 

ตลาดสหรัฐฯ

      ขยายตัวร้อยละ 4.7 (ขยายตัวต่อเนื่อง 26 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 18.1

 

ตลาดจีน

      หดตัวร้อยละ 20.6 (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และทองแดงและของทำด้วยทองแดง เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2565 หดตัวร้อยละ 2.6

 

ตลาดญี่ปุ่น

      หดตัวร้อยละ 4.7 (หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 0.5

 

ตลาดอาเซียน (5)

     ขยายตัวร้อยละ 21.3 (ขยายตัวต่อเนื่อง 15 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อากาศยานและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และน้ำตาลทราย เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 24.4

 

ตลาด CLMV

      ขยายตัวร้อยละ 24.2 (ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 11.8

 

ตลาดสหภาพยุโรป (27)

      ขยายตัวร้อยละ 8.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 6.0

 

ตลาดเอเชียใต้

     ขยายตัวร้อยละ 21.1 (ขยายตัวต่อเนื่อง 18 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และยางพารา เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 33.6

 

ตลาดทวีปออสเตรเลีย

       ขยายตัวร้อยละ 20.0 (ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อากาศยานและส่วนประกอบ และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2565 หดตัวร้อยละ 0.2

 

ตลาดตะวันออกกลาง

      ขยายตัวร้อยละ 27.4 (ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำตาลทราย ข้าว เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 22.3

 

ตลาดทวีปแอฟริกา

       ขยายตัวร้อยละ 4.3 (ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และผ้าผืน เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 5.0

 

ตลาดลาตินอเมริกา

      หดตัวร้อยละ 6.7 (กลับมาหดตัวในรอบ 18 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าที่สำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องยนต์สันดาปภายในฯ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 6.9

 

ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS

       หดตัวร้อยละ 39.7 (หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2565 หดตัวร้อยละ 35.2

 

การส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ และแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป

     การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกและลึก เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออกของผู้ประกอบการไทย โดยการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ (1) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าภายใต้ความร่วมมือมินิเอฟทีเอ เช่น การเจรจาจับคู่ธุรกิจกลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ภายใต้มินิเอฟทีเอ ไทย-โคฟุ นอกจากนี้ ยังได้มีการลงนามมินิเอฟทีเอ ไทย-ปูซาน ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทย กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจปูซาน ประเทศเกาหลีใต้

     ซึ่งคาดว่าจะช่วยขยายการส่งออกไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น  (2) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าไทย-ซาอุดีอาระเบีย ในวาระโอกาสผู้แทนหอการค้ามณฑลริยาดเยือนไทย โดยได้มีการจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ การลงนาม MoU ระหว่างภาคเอกชนไทยกับซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ซาอุดีอาระเบียถือเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อและรายได้สูงที่ไทยต้องการรื้อฟื้น (3) การเดินทางไปเจรจากับผู้บริหารศูนย์การค้าในยุโรป เพื่อสร้างโอกาสให้ไทยมีพื้นที่วางจำหน่ายสินค้าในศูนย์การค้าของเดนมาร์ก และสหราชอาณาจักร (4) การผลักดันสินค้าท้องถิ่นไทยสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้า GI ที่มีเอกลักษณ์ตามแต่ละท้องถิ่น และ (5) การลงพื้นที่พบผู้ประกอบการและเกษตรกร เพื่อสนับสนุนให้ใช้ประโยชน์จาก FTA ในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ

    แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกไทยจะยังเติบโตต่อเนื่องท่ามกลางปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยไทยมีการกระจายความเสี่ยงการส่งออกไปในหลายตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ สินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออก ยังมีความต้องการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

     ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยบวกจากเงินบาทอ่อนค่าที่สนับสนุนให้ผู้ส่งออกไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน และมีรายได้ในรูปของเงินบาทเพิ่มขึ้น ค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มลดลง การขนส่งสินค้าเริ่มมีสัญญาณที่ดีจากปริมาณตู้สินค้าที่เข้ามายังไทย และจำนวนเที่ยวเรือที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มลดลง ล้วนส่งผลให้ต้นทุนของผู้ส่งออกลดลง

     อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ และผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจทำให้กำลังซื้อและปริมาณสินเชื่อเพื่อการบริโภคชะลอตัว อีกทั้งความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในอนาคตที่อาจกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของโลกและไทย ซึ่งจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

 

 Click Donate Support Web  

 

EXIM One 720x90 C J

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

PTG 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ใจฟู720x100px

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!