- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 06 August 2022 18:38
- Hits: 3201
กรมเจรจาฯ จัดสัมมนา 11 ส.ค.นี้ รับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.กองทุน FTA
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.กองทุน FTA จากทุกภาคส่วน วันที่ 11 ส.ค.นี้ เผยกองทุนจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พร้อมเชิญชวนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ www.dtn.go.th และ www.law.go.th ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.–30 ก.ย.นี้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น เรื่อง “การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. ...” ในวันที่ 11 ส.ค.2565 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.กองทุน FTA และเปิดโอกาสให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตร ผู้ประกอบการ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.
ทั้งนี้ ยังได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาพันธ์ SME ไทย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน และหน่วยงานศึกษาวิจัยภายนอก เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นด้วย
นางอรมน กล่าวว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.กองทุน FTA สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการให้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุน FTA) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะต้องจัดทำกฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุน FTA ต่อไป เพื่อให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 ที่กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับจะต้องให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง
สำหรั บกองทุน FTA ที่จัดตั้งขึ้น จะมีรายละเอียดเรื่องการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาคการผลิต ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันให้สามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า โดยจะให้ความช่วยเหลือใน 2 รูปแบบ คือ เงินจ่ายขาด เช่น ค่าใช้จ่ายในการศึกษา วิจัยและพัฒนา ค่าใช้จ่ายการจัดหาที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือปรับปรุงพัฒนา
ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่มีผลโดยรวมต่อการสนับสนุนการบริโภค การตลาด และการส่งออก ค่าใช้จ่ายในการจัดอบรม สัมมนา และศึกษาดูงาน และเงินหมุนเวียน เช่น ค่าก่อสร้างโรงงาน โรงเรือน ค่าเครื่องมืออุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการผลิตและการตลาด โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน เพื่อเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุมัติโครงการขอความช่วยเหลือ หลังจากที่ พ.ร.บ. กองทุน FTA มีผลใช้บังคับ
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.กองทุน FTA ผ่านเว็บไซต์กรมฯ www.dtn.go.th และเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมายของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล www.law.go.th ระหว่างวันที่ 11 ส.ค.-30 ก.ย.2565 จึงขอเชิญชวนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.กองทุน FTA ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำกฎหมายดังกล่าว ก่อนที่จะมีการเสนอต่อ ครม. และรัฐสภา ตามกระบวนการตรากฎหมายของไทยต่อไป